ก.แรงงานสั่งจับตา "ผีน้อย" ล็อตใหญ่กลับไทย
ก.แรงงานเผยโควิด-19 ระบาด มีแรงงานผีน้อยทยอยกลับจากเกาหลีใต้สูงขึ้น สั่งจับตากลุ่มล่าสุดพันกว่าคน ประสาน สธ.ตามตัวถึงบ้าน
จากกรณีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเกาหลีใต้ขณะนี้ ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ รวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศหรือ "ผีน้อย" จำนวนมากเข้ารายงานตัวกับทางการเกาหลีใต้เพื่อขอกลับประเทศไทยนั้น
ล่าสุด นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตัวเลขแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ขณะนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นับแต่เดือน ธ.ค. 2562 จนถึง 1 มี.ค. 2563 มีคนไทยไปรายงานตัวแล้วกว่า 5,248 คน โดยแรงงานไทยเริ่มเดินทางกลับมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเหตุการณ์0โรคโควิด-19 ระบาด
ซึ่งหากดูตัวเลขที่แจ้งกับทางตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค.2562 พบว่าแรงงานไทยทะยอยเดินทางกลับสัปดาห์ละ 200-400 คนโดยประมาณ แต่พอมีข่าวเรื่องโรคระบาดหนักในช่วงปลายเดือน กพ.-มี.ค.2563 ตัวเลขแรงงานไทยเข้ารายงานตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะล่าสุดช่วง 24 ก.พ.- 1 มี.ค.2563 มียอดแรงงานไทยเดินทางกลับมาถึง 1,181 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว ทางกระทรวงแรงงานมีความเป็นห่วงแรงงานกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาล่าสุดเนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ ถึง 1,181 คน ขณะนี้กำลังประสานกับทางตรวจคนเข้าเมืองของไทย เพื่อขอที่พำนักอาศัยตามภูมิลำเนาของแรงงานทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังแรงงานกลุ่มนี้
มีรายงานข่าวล่าสุดแจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบข้อมูลการเดินกลับของคนไทยกลุ่มนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่ามีทั้งหมด 8 ราย ต้องสงสัยจะติดเชื้อโควิด-19 และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการ จำนวน 2 ราย และอีก 6 ราย ได้กักตัวเอาไว้ที่บ้านพัก เป็นเวลา 14 วัน ส่วนด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานอื่นๆ ยังไม่ได้รับรายงาน
ขณะที่กรมการจัดหางานจะตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของแรงงานทุกคนว่าแต่ละคนเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศหรือไม่ หากเป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินค่าช่วยเหลือเยียวยาคนละจำนวน 15,000 บาท ซึ่งตามเงื่อนไขที่จะต้องเป็นประเทศที่ได้ประกาศเป็นโรคระบาดแล้ว
นอกจากนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ของ สนร.เกาหลี จะประสานนายจ้าง เพื่อตรวจสอบค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคนว่ามีค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประเทศต้นทาง เพื่อจะให้การช่วยเหลือเยียวยาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป