ข่าว

"นายกฯ"จ่อตั้งร.พ.เฉพาะกิจรับมือโควิดระบาดระยะ3

"นายกฯ"จ่อตั้งร.พ.เฉพาะกิจรับมือโควิดระบาดระยะ3

15 มี.ค. 2563

"นายกฯ" ถกเครียดรับมือ ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ระยะ3 เล็งตั้ง "รพ.เฉพาะ" ชี้ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้อง "ปิดผับ-สนามมวย" หมด ชี้ช่องประชาชนตรวจติดเชื้อด้วย "ยูเซ็ป"

 

 

          วันที่ 15 มี.ค. 2563 เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุย ถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำอะไร เตรียมการในส่วนใดบ้าง

 

         "ฝ่ายความมั่นคงต้องไปพิจารณาว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพื่อเพิ่มเติมเป็นพิเศษ การประกาศนั้นง่ายอยู่แล้วแต่สิ่งสำคัญเราต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น"นายกฯ กล่าว

 

 

 

         นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้เราต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทย และในส่วนของชาวต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เสนอมาโดยคณะแพทย์ อย่าลืมว่านายกฯ ไม่ใช่หมอ นายกฯ เป็นผู้บริหาร เราก็ต้องฟังหมอเป็นหลัก วันนี้หมอที่มาร่วมประชุมไม่ใช่หมอเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข แต่มีหมอจากภายนอกเข้ามาซึ่งมีหมออาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ เพราะประเทศไทยมีโรคระบาดเกิดขึ้นหลายโรคแล้ว

 

      "วันนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันทั้งหมด เว้นแต่บางคนที่ยังเข้ามาไม่ได้ เพราะบางครั้งยังพูดไม่ตรงกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องพูดตรงกับรัฐบาลแล้วถึงจะให้เข้ามาร่วมทำงาน เพียงแต่เราต้องฟังเหตุและผลด้วยกัน" นายกฯ กล่าวสีหน้าเครียด

 

       นายกฯ กล่าวย้ำอีกว่า ช่วงนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคน นายกฯให้ความสำคัญกับทุกคน วันนี้คนไทยที่กลับจากต่างประเทศเราก็มีมาตรการดูแลทั้งนักศึกษาทุนเอเอฟเอส และแรงงาน เพราะทุกคนก็ต้องการกลับบ้าน เราต้องมาดูถึงมาตรการการคัดกรอง ทั้งเรื่องของสถานที่ อย่างศูนย์ที่สัตหีบ เราก็ยังมีการใช้อยู่ ไม่ได้สั่งปิดหรือเปิด เมื่อมีคนเข้ามาและจำเป็นต้องเข้าไปใช้ก็ต้องใช้

 

       นายกฯ กล่าวว่า เรื่องโรงพยาบาลในอนาคตตนได้ให้แนวทางไปว่าควรจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโคโรนา ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่3 ซึ่งขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิดโดยเฉพาะ ถือเป็นมาตรการรองรับในอนาคตในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ก็ให้มีการเสนอขึ้นมาซึ่งรัฐบาลพร้อมทุ่มสรรพกำลังในตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐจากมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ

       

    

 

 

          ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อโควิดฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการเสนอแล้วโดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)ที่ เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2560 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องให้หมอเป็นผู้อธิบาย ตนไม่ใช่หมอ

 

         เมื่อถามถึงการบูรณาการเรื่องของการท่าอากาศยานตามสนามบินต่างๆ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีบูรณาการภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต่างประเทศ สนามบิน พื้นที่ควบคุม ส่วนภาคปฏิบัติมีการบูรณาการกันอยู่แล้ว ถ้าเรามัวฟังแต่ในสื่อทุกอย่างก็มีปัญหา เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศมีการเข้าและออก วันนี้เจ้าหน้าที่ทำจนสามารถเข้ามาในระบบ

 

        "ผมยืนยันว่าการบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจเนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน อย่างวันนี้มีคนเข้าประเทศลดลงเยอะมากซึ่งสถิติก็มีอยู่แล้ว เที่ยวบินก็ลดลงจำนวนคนที่เคย เข้ามาวันละ60,000- 70,000 คน วันนี้เหลือเพียง 6,000 คน เป็นปัญหาที่ตามมาซึ่งต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด"พลเอกประยุทธ์ กล่าว

 

 222222