'บิ๊กตู่'เชือดอธิบดีกรมการค้าภายใน
"บิ๊กตู่" เซ็นเด้งฟ้าผ่าอธิบดีกรมการค้าภายใน เซ่นปมหน้ากาก เปิดทางสอบขาดแคลน สธ.เผยคนไทยติดเชื้อโควิด-19 วันเดียว 32 คน จากสนามมวย สั่งปิดลุมพินี ตื่นปิดประเทศแห่กักตุนอาหาร-น้ำดื่ม
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีคำสั่งย้ายด่วน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ให้มาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงานในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนและราคาพุ่งสูง รวมทั้งประเด็นการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศหรือไม่
อ่านข่าว-อธิบดีกรมการค้าภายในยันไม่อนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัย
โดยในหนังสือคำสั่งระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 80/2563 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการบริหารจัดการของรัฐบาลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรณีมีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการกักตุนและจำหน่ายหน้ากากอนามัย ซึ่งสมควรมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจร ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบริหารราชการของกรมการค้าภายใน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้นายวิชัย โภชนกิจ ตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน (นักบริหารระดับสูง) ข้าราชการพลเรือนสามัญ กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม จนกว่าจะมีการตรวจสอบแล้วหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีให้ข้าราชการคนดังกล่าวปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการตรวจราชการ โดยในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุม กำกับดูแลของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง เพื่อให้การบริหารจัดการของกรมการค้าภายในเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563
ด้านนายวิชัย กล่าวว่า ยังไม่เห็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีเซ็นให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเห็นคำสั่งก็พร้อมปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาทุกด้านเต็มที่ เชื่อว่าหลายฝ่ายจะเข้าใจ ซึ่งการปลดครั้งนี้คงเห็นว่าตัวเองทำงานเหนื่อยมาก เลยอยากให้พักล่วงหน้า 6 เดือน เพราะสิ้นเดือนกันยายน 2563 ก็จะเกษียรณอายุข้าราชการแล้ว โดยคำสั่งย้ายดังกล่าวไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งในวันที่ 16 มีนาคม จะเดินทางเข้ากระทรวงพาณิชย์ และอำลาข้าราชการกรมการค้าภายใน
“บิ๊กตู่”นำถก“ศูนย์ใหญ่”รับมือ
วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ข้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะกรรมการจากทุกกระทรวง และหลายภาคส่วนเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เตรียมเสนอศูนย์ใหญ่มาตรการรับมือการระบาดโดยเฉพาะมาตรการการสั่งปิดสถานบันเทิงไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย โดยจะพิจารณาเป็นพื้นที่ที่ไป
เตรียมเปิดรพ.เฉพาะกิจรับระยะ3
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานการประชุมว่า การประชุมวันนี้เพราะมีความกังวลว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้อย่างไร จึงมานั่งตรวจสอบกันในทุกหน่วยงานตามมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้วว่าทำไปได้แค่ไหนอย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน รวมทั้งทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำไป รวมถึงหน้ากากอนามัย วันนี้สั่งให้ไปรวบรวมเรื่องของหน้ากากอนามัยว่า ในส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นมีประเทศใดบ้าง ซึ่งกำลังตรวจสอบยอดที่เข้ามาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อดูว่ายอดที่นำเข้ามากับยอดที่ผลิตในประเทศรวมแล้วมีจำนวนเท่าไหร่ มีพอเพียงหรือไม่ ขณะเดียวกันได้สั่งให้ไปเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการผลิตตามสายผลิตของโรงงานต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการที่รัฐสนับสนุนและส่งเสริมซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง อีกทั้งได้มีการหารือกับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบโดยเฉพาะการประสานกับทางจีน เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เรากำลังเร่งพัฒนาหน้ากากอนามัยทางเลือก ซึ่งสามารถใช้กับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ไปใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง เรื่องเหล่านี้ประชาชนจะต้องเกิดความเข้าใจ ทั้งนี้ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำอะไร เตรียมการในส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคงต้องไปพิจารณาว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพื่อเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เพราะการประกาศนั้นง่ายอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญเราต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น
“ยอมรับว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนเยอะ จึงอยากขอร้องว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องไปกักตุนอะไร ผมคิดว่าอย่าไปกลัวถึงขนาดนั้น วันนี้เรามีมาตรการเพิ่มเติมขึ้น ทั้งในเรื่องการติดตามตัว การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ กำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะบางครั้งก็ติดในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทย และในส่วนของชาวต่างประเทศ อย่าลืมว่านายกฯ ไม่ใช่หมอ เป็นผู้บริหาร เราก็ต้องฟังหมอเป็นหลัก ส่วนเรื่องโรงพยาบาลในอนาคตนั้นได้ให้แนวทางไปว่าควรจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลไวรัสโควิด-19 ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโควิด-19 โดยเฉพาะ ถือเป็นมาตรการรองรับในอนาคต ในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ก็ให้มีการเสนอมา ซึ่งรัฐบาลพร้อมในเรื่องงบประมาณตรงนี้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสนับสนุน
เมื่อถามอีกถึงการบูรณาการเรื่องของการท่าอากาศยานตามสนามบินต่างๆ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้บูรณาการภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศมีการเข้าและออก ยืนยันว่าการบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ เนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเที่ยวบินก็ลดลงจำนวนคนที่เคย เข้ามาวันละ 60,000- 70,000 คน วันนี้เหลือเพียง 6,000 คน เป็นปัญหาที่ตามมา ซึ่งต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ขอความร่วมมือสถานบันเทิง
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ในเรื่องของสถานบันเทิงมีการหารือแล้ว ขณะนี้กำลังดูว่าถ้าขอความร่วมมือได้ก็จะขอความร่วมมือ แต่ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือยัง และเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด และเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเราทำช้าแต่ต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไรเรื่องนี้ เราต้องฟังจากหมอว่าจะควบคุมอย่างไร ไม่ใช่อะไรก็จะให้นายกฯ สั่งตาม ใครอยากได้อะไรจะต้องสั่ง ทำงานอย่างนี้ไม่ใช่
ตรวจ-รักษาโควิดฟรี
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาด นายกฯ ตอบว่า เรื่องนี้มีการเสนอแล้วโดยจะมีการใช้กฎหมาย กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ หรือยูเซ็ป ที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องให้หมอเป็นผู้อธิบาย
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเรื่องการตรวจหาโควิด-19 ฟรี ว่าหากรู้สึกไม่สบาย เช่น มีไข้ น้ำมูก เป็นหวัด มีอาการ หรือมีประวัติเสี่ยง ขอให้เดินทางไปโรงพยาบาลที่มีสิทธิ โดยไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ ซึ่งจะเดินทางไปเอง หรือเรียกเจ้าหน้าที่มารับก็ได้ เมื่อไปถึงจะได้รับการตรวจและรักษาฟรี เพราะคนไทยทุกคนมีสิทธิ ไม่ว่าจะสิทธิข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพ และสิทธิประกันสังคม แต่จะต้องมีประวัติและการสัมผัสที่สุ่มเสี่ยง ส่วนผู้ที่ยังไม่มีอาการขอความร่วมมือว่ายังไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาเชื้อ เพราะไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ไม่พบเชื้อ และเสียค่าใช้จ่ายด้วย แต่หากรู้ตัวเองว่ามีประวัติสุ่มเสี่ยง ขอให้ติดต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหนาที่เข้าไปดูแลอย่างดี ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ ตามติดกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการ 40-270 ราย
ส่วนโรงพยาบาลเอกชนขณะนี้ก็ให้ความร่วมมือดี ถ้ามีผู้ป่วยต้องสงสัยสามารถส่งต่อมาตรวจกับกระทรวงสาธารณสุขได้ เนื่องจากมีห้องแล็บพร้อมดูแล ทั้งนี้หากป่วยไม่มากโรงพยาบาลเอกชนก็รักษาได้ แต่ทางกระทรวงก็ได้เตรียมความพร้อมของทีมเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญและระบบรองรับไว้แล้ว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สายด่วน 1422 มีประชาชนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก จึงเพิ่มช่องทาง 1669 และ 1111 ให้ประชาชนติดต่อเพิ่มเติม พร้อมขอประชาชนอย่ากังวลหลังสังคมมองว่าสถานการณ์เข้าใกล้การแพร่ระบาดระยะที่ 3 แล้ว โดยขอให้เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันตัวเอง ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ยืนยันว่าโรคนี้มียารักษาและกำลังจะมีวัคซีน ส่วนใหญ่คนที่เป็นอาการไม่รุนแรง ซึ่งประเทศไทยเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้เมื่อ 10 ปีมาแล้วในช่วงไข้หวัดใหญ่ จึงขอให้เช็กข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันยังไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร สำหรับการผลิควัคซีน จะเป็นลักษณะการเก็บเชื้อไปพัฒนา ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี
ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 16 มีนาคมนี้ กรมควบคุมโรคจะจัดทำแม็พแผนที่แสดงพิกัดคนที่ติดเชื้อในกทม.และต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามและเฝ้าระวังดูแลตัวเอง ทั้งนี้จะมีการดำเนินการพิจารณากรณียกระดับโรคโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน เพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากทุกอย่างผ่านเกณฑ์ก็จะสามารถใช้ได้ทันที
นอกจากนั้นยังมีการเตรียมเสนอ 3 มาตรการ ต่อท่านนายกรัฐมนตรีในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คือ 1.มาตรการในการลดคนเดินทางไปต่างประเทศ 2.มาตรการปิดสถานบริการและสถานบันเทิงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และ 3.งดจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มาก
ด้านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กระบวนการตรวจแล็บตอนนี้มี 35 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามนโยบาย โรงพยาบาลที่มีคนมาตรวจมากที่สุด คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคนมาตรวจมากกว่า 1,000 ราย หากผู้ที่มีประวัติหรือเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคและมีอาการตรงกับกลุ่มเสี่ยงจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ตรวจฟรีที่แล็บทั้ง 18 แห่ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนใครที่อยากตรวจเพื่อความสบายใจก็สามารถตรวจได้แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
ปิดประเทศสู้โควิดขึ้นกับสถานการณ์
เมื่อถามถึงสถานการณ์ของประเทศใกล้สู่ระยะที่ 3 นพ.รุ่งเรือง บอกว่า ไม่อยากให้มากังวลเรื่องระยะใดก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญคือเปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันได้ เราต้องป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โรคนี้มียารักษาและกำลังจะมีวัคซีน ซึ่งโดยปกติเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรคสำคัญเช่นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด เมื่อเกิดโรคเราจะเก็บเชื้อไปพัฒนาเป็นวัคซีน มันมีวิธีการทำโดยใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีก็จะได้วัคซีนออกมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่วัคซีน แต่อยู่ที่ว่าโรคนี้แพร่ระบาดจากการไอหรือจามที่เป็นละอองฝอย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ สิ่งสำคัญประชาชนต้องดูข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าเพิ่งแชร์ ขอให้เช็กข้อมูลให้ถูกต้องก่อน ดูข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เราไม่อ่านแต่ส่งต่อเลย ก็ต้องขอกราบวิงวอน ปัญหาวันนี้โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่เป็นเรื่องสุขภาพทางจิตใจ เมื่อถามว่าขณะนี้ประชาชนมีความจำเป็นจะต้องกักตุนอาหารแล้วหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะด้วยระบบธรรมดา อุปสงค์อุปทานของเรามีความเพียงพอ
สำหรับมาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศนั้น นพ.รุ่งเรือง อธิบายว่า ตรงนี้เป็นส่วนที่เราจะต้องตัดสินต่อไปในอนาคตเพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการ ซึ่งวันนี้สิ่งที่เราทำเราไม่ได้ทำแบบไม่ได้วางแผน เรามีผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับนานาชาติ ระดับองค์การอนามัยโลกมาร่วมกันคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและไม่ต้องห่วงสิ่งที่ประเทศไทยทำวันนี้ เราทำเกินกว่าสถานการณ์มีอยู่เสมอ อย่างแรกคือการเฝ้าระวัง การติดตาม เวลาเจอผู้ติดเชื้อ และที่สำคัญคือระบบรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมีพร้อม หมอพร้อม ยาพร้อม ทุกอย่างพร้อมที่รองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดขนาดไหนก็ตาม จะไม่เป็นแบบอิตาลีเรายืนยัน นายกฯ กำชับเป็นอย่างดีต้องทำให้ดีที่สุด
ไทยติดเชื้อเพิ่มรวดเดียว32ราย
กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 15 มีนาคม โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 32 ราย รอผลยืนยันอีก 51 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากสนามมวย สถานบันเทิง และร้านอาหาร ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสมรวม 114 ราย กลับบ้านได้แล้ว 37 ราย
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 32 ราย ประกอบด้วยกลุ่มคน 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่เชื่อมโยงสนามมวย 9 ราย 2.กลุ่มคนที่เชื่อมโยงสถานบันเทิง 8 ราย 3.กลุ่มคนที่ทำงานสัมผัสกับนักท่องเที่ยว คือ ตำรวจ ตม. ร้านอาหาร พนักงานบริษัท จำนวน 3 ราย 4.กลุ่มคนที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกลับมา 7 ราย แบ่งเป็นคนไทย 5 ราย ต่างชาติ 2 ราย ซึ่งหนึ่งในคนไทยคือกลุ่มข้าราชการไปดูงานที่สเปน 1 ราย 5.กลุ่มที่สัมผัสกับเจ้าของร้านอาหารที่ติดเชื้อ 2 ราย 6.กลุ่มคนที่อยู่ระหว่างดำเนินสอบสวนโรคอีก 3 ราย ซึ่งทั้ง 3 รายนี้มีผลเป็นบวกคือติดเชื้อแน่นอน และกลุ่มคนที่รอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันอีก 51 ราย โดยเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามโดยมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้เพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายไทยอายุ 29 ปี และหญิงไทยอายุ 22 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 37 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 76 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 114 ราย
“ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่คือคนที่เดินทางไปสนามมวย สถานบันเทิง และร้านอาหาร รวมถึงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือจากประชาชนสั่งงดเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าจะเดินทางไปเที่ยวหรือดูงานก็ตาม และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยๆ ส่วนผู้ประกอบการให้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และเปิดหน้าต่าง ประตู ระบายอากาศทุกวัน นอกจากนี้ขอให้งดการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่พบผู้ป่วย กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการลงพื้นที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว โดยในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.จะจัดประชุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งการจะสั่งปิดสถานที่ใดๆ ต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด” นพ.สุขุม กล่าว
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาที่ฐานทัพเรือสัตหีบได้รับผู้เดินทางจากประเทศอิตาลี จำนวน 83 คน ประกอบด้วย นักศึกษาแลกเปลี่ยน 78 คน นักท่องเที่ยว 3 คน พนักงานสายการบิน 2 คน ในจำนวนนี้ 6 คนเป็นผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังสังเกตอาการเนื่องจากมีอาการไอ มีน้ำมูก ไม่มีไข้ ส่งไปโรงพยาบาลสัตหีบ กม.10 จำนวน 3 ราย รพ.บ้านฉาง 1 ราย รพ.มาบตาพุด 1 ราย และรพ.ระยอง 1 ราย ส่วนผู้เดินทางอีก 77 คน ส่งไปพักสังเกตอาการที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จนครบ 14 วัน
รอผลเจ้ากรมสวัดิการทบ.ติดเชื้อหรือไม่
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ตามที่มีปรากฏข่าวสารว่ากระทรวงสาธารณสุขประกาศผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหนึ่งในผู้ป่วยติดเชื้อได้เข้าไปร่วมกิจกรรมที่สนามมวยลุมพินีโดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาสนามมวยลุมพินีได้ประกาศปิดพื้นที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามมาตรฐานสาธารณสุขแล้ว นอกจากนี้มีการแจ้งให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขโดยให้เข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยในโรงพยาบาลและปัจจุบันอยู่ระหว่างการยืนยันผลการตรวจดังกล่าวรวมถึงมาตรการหยุดพักสังเกตอาการ 14 วัน
ล่าสุดหนึ่งในบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยและกักบริเวณตนเองคือ พล.ต.ราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกได้รับทราบข่าวผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้เข้าไปใกล้ชิดกับบุคลนั้นในสถานที่การจัดแข่งขันมวยและตระหนักดีว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง แต่ไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ จึงรีบดำเนินการตามมาตรการป้องกันโดยได้ไปเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและตรวจวินิจฉัยจากโรงพยาบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของทีมแพทย์ว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ส่วนครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดก็ได้ดำเนินตามมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวเอง 14 วัน เพื่อสังเกตอาการแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาและล่าสุดกองทัพบกได้ดำเนินการตามมาตรการกำจัดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดในทุกสถานที่ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะการทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามสถานที่เป้าหมายแล้ว
‘จุรินทร์’สั่งรับมือปชช.ตื่นกักตุนสินค้า
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีประชาชนมีความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนตื่นตระหนกและกักตุนสินค้า ว่ากระทรวงได้เชิญผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคมาหารือเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าเป็นอย่างไร และสั่งการปลัดกระทรวงพาณิชย์ประสานข้อมูลกับผู้ผลิตรวมถึงต้องประสานความร่วมมือทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดการซื้อสินค้าจำเป็นบางชนิด เช่น กระดาษทิชชู่ แต่ขอให้ภาคเอกชนรายงานข้อมูลให้ปลัดกระทรวงเพื่อประกอบการตัดสินใจพิจารณาในบางช่วงต่อไป
เมื่อถามว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ประชาชนต้องกักตุนสินค้า นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่อยากเห็นสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจะทำให้สินค้าขาดตลาดในเวลาที่ไม่สมควร เราอยากเห็นการจับจ่ายใช้สอยในภาวะปกติเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้อย่างเพียงพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน ประชาชนจึงหวั่นว่าอีกไม่นานไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ทำให้ทุกคนพากันตื่นตัวออกมาหาซื้อข้าวสารอาหารแห้งและของใช้ส่วนตัวตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ จนของบางอย่างหมดเกลี้ยง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปสำรวจห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งได้เห็นบรรยากาศการจับจ่ายซื้อของของประชาชนที่พากันมาเดินห้าง จากการสอบถามประชาชนพบว่าเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจออกมาเลือกซื้อของในวันนี้เป็นเพราะกำลังวางแผนชีวิตเตรียมรับมือเชื้อโควิด-19 ในส่วนของอาหารและของใช้ที่ขายดีมากๆ จนหมดเกลี้ยงชั้นวางก็คือข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำเปล่าแบบแพ็ก และทิชชู่ ซึ่งประชาชนที่มาเลือกซื้อก็บอกว่าพวกเขาไม่ได้กักตุนขนาดนั้น เพียงแค่เตรียมตัวรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้วิตกกับการเเพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากนัก แต่กลัวว่าถ้าหากถึงช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก จะไม่มีของกินของใช้มากกว่า
ผุดทำงานที่บ้านหนีไวรัส
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้หน่วยงานราชการทำงานที่บ้านระหว่างมีการระบาดของโควิด-19 ว่า ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ จะมีการร่วมมือกันระหว่างระหว่างโอเปอร์เรเตอร์และผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศรวมไปถึงไมโครซอฟท์บริษัทไลน์ และกูเกิล จะมีการแถลงข่าวร่วมกันในการที่จะสนับสนุนการทำงานที่บ้าน ซึ่งจะเป็นระบบที่ทุกคนสามารถใช้ได้ โหลดฟรีและไม่ไปกระทบแพ็กเกจโทรศัพท์ปัจจุบันที่ใช้อยู่ เพื่อสำหรับการประชุมสัมมนา ถือเป็นการสนับสนุนให้ภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทางและป้องกันกลุ่มเสี่ยงด้วย
นครพนมป่วน-“ธรรมนัส”เสี่ยงติดเชื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภ.ธาตุพนม จ.นครพนม ออกหนังสื่อคำสั่ง ที่ 93/2563 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2563 ให้ ตำรวจยศ ด.ต. จำนวน 2 นาย พร้อมคนในครอบครัว กักตัวเองในบ้านพักเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 15 วัน และประสานแพทย์ พยาบาลเข้าตรวจดูอาการ หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “นราธิเบต ทองดำ” หรือ "เบส เชียงใหม่” หัวหน้าค่ายมวยชื่อดัง ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาสักการะองค์พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา จากนั้นก็กลับเข้ากรุงเทพฯ ต่อมามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้จึงไปพบแพทย์มีผลตรวจเบื้องต้นเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ในฐานะที่เป็นคนในวงการหมัดมวยจึงนำข้อมูลมาเผยแพร่ เพื่อให้สังคมและคนใกล้ตัวเฝ้าระวัง กักบริเวณตัวเองเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดต่อบุคคลอื่น
ด้าน พ.ต.อ.ศรีนคร นัยวัฒน์ ผกก.สภ.ธาตุพนม กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด จึงได้มีคำสั่งให้ตำรวจยศ ด.ต. จำนวน 2 นาย พร้อมคนในครอบครัว กักตัวเองในบ้านพักเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 15 วัน และประสานแพทย์ พยาบาลเข้าตรวจดูอาการ ซึ่งจากการตรวจร่างกายยังไม่พบว่าตำรวจทั้ง 2 นายมีอาการไข้ แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้ยืนยันว่าตำรวจในการบังคับบัญชายังไม่ยืนยันการติดเชื้อแต่อย่างใด ส่วนนายตำรวจอีก 6 นายนั้น แม้จะไม่ได้สัมผัสตัวนายนราธิเบตอย่างใกล้ชิด ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมจึงมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาขอกักตัวเองภายในบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์
นอกจากนี้สำหรับไทม์ไลน์ที่นายนราธิเบต เดินทางมาที่ จ.นครพนม เบื้องต้นทราบว่าแวะร้านอาหาร 2 แห่ง กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่ง และนอนพักในโรงแรมอีก 1 แห่ง ขณะที่วัดพระธาตุพนม มีคำสั่งให้ปิดบริเวณพื้นที่ชั้นใน ห้ามผู้ใดเข้าไปโดยเด็ดขาด ซึ่งคณะแพทย์ พยาบาล จะลงไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาด ให้พระภิกษุสงฆ์และเด็กวัดเข้าภายในพระธาตุพนม กักตัว 14 วัน นอกจากนี้แล้วปรากฏว่าเมื่อ 12 มีนาคม ก็มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 23 ประจำปี 2563 จากนั้นก็เข้าไปภายในองค์พระธาตุพนมพร้อมคณะผู้ติดตามซึ่งอาจมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน
สอบรพ.เอกชนตรวจ“แมทธิว”ไม่ผิด
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสังคมวิพากษ์วิจารณ์โรงพยาบาลเอกชนปล่อยตัวแมทธิว ดีน ดารานักแสดงและเจ้าของค่ายมวยกลับบ้าน ทั้งๆ ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศของ สธ.ว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่และนิติกรของสบส.ลงพื้นที่ มีการติดตามพยาบาลที่ประจำในโรงพยาบาลเอกชน ให้ข้อมูลว่าเนื่องจากดาราคนดังกล่าวไปตรวจสุขภาพทั่วไป ประกอบอาการไม่รุนแรง มีเพียงไข้ ประกอบกับประวัติไม่ได้เข้าเกณฑ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้น
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากไม่มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศตามที่ผู้ป่วยให้ข้อมูลจึงไม่มีการกักตัวเฝ้าระวังจึงทำให้ผู้ป่วยที่เป็นดาราคนดังกล่าวกลับบ้าน เมื่อรู้ผลจึงแจ้งผลทางอีเมลกับดาราคนดังกล่าวและเป็นช่วงที่อยู่บ้านและถ่ายคลิปดังกล่าวจึงถือว่าเรื่องนี้สถานพยาบาลไม่ได้มีเจตนาหรือไม่ความผิดในการปกปิด เพราะเกณฑ์เบื้องต้นของผู้ป่วยไม่ได้มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามหากต่อไปพบสถานพยาบาลไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กรมควบคุมโรควางไว้ ในการรายงานผลภายใน 3 ชั่วโมง กรณีสงสัยและตรวจโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล มาตรา 36 ที่ระบุว่าผู้ประกอบกิจกรรมและผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาลจะมีความผิดจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท