รัฐลดราคาก๊าซหุงต้มถังละ45บ.ช่วยชาวบ้านสู้วิกฤติโควิด
สนธิรัตน์เคาะราคาก๊าซแอลพีจีลง กก.ละ 3 บาท ยืนเอ็นจีวี 5 เดือน ดีเดย์ 25 มี.ค. ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านออนไลน์ คาดเม็ดเงินไหลเข้าระบบ 33,000 ล้าน ขณะที่ อุตตม หารือ สมคิด เร่งออกมาตรการดูแลศก.จากโควิดระยะที่ 2 ช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม
รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
วันที่ 19 มีนาคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบปรับลดราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี 3 บาทต่อกก. เช่นถัง 15 กก. ลดราคา 45 บาท ลดราคาเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะมีผลหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันที่ 23 มีนาคมนี้ โดยกลไกที่สามารถดูแลราคาดังกล่าว เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสูตรราคาและการใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้ามาดูแล
นอกจากนี้ กบง.ยังเห็นชอบให้คงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถโดยสาร รถตู้สาธารณะ เป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 พ.ค.-31 ก.ค.63) ส่วนรถยนต์ทั่วไปไม่ปรับขึ้นจากราคาปัจจุบันที่ 15.31 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 5 เดือน (16 มี.ค.-15 ส.ค.) โดยจะมีการรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) บ่ายวันนี้ (19 มี.ค.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีโอกาสที่จะลดลงวานนี้ (18 มี.ค.) สัญญาณน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง โดยย WTI ส่งมอบเดือนเมษายนร่วงลง 6.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณร้อยละ 24 ปิดที่ 20.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดรอบ 18 ปีนับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
วันเดียวกัน ปตท.-บางจาก ประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 60 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นอี 85 ลดลง 40 สตางค์ต่อลิตร และกลุ่มดีเซลทุกชนิดลดลง 40 สตางค์ต่อลิตร มีผล 20 มีนาคม เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป นับเป็นการปรับลด 8 รอบ ใน 11 วัน กลุ่มเบนซินลง 4.80 บาทต่อลิตร กลุ่มดีเซล ลดลง 3.70 บาท
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศหลักเกณฑ์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง “การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก มีผลบังคับใช้ 20 มีนาคมนี้"
ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) จะต้องคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวจำนวนกว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,000 ล้านบาท โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับคืน และให้ผู้บริการไฟฟ้าคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งต้องคืนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่วางหลักประกันตามประเภทของขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และจะไม่มีการเรียกเก็บเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่อีกต่อไป ยกเว้นกรณีเปลี่ยนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าจากประเภทที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ไปเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น
นอกจากนี้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเปิดให้มีการตรวจสอบสิทธิ์และทยอยคืนเงินประกันได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป ในช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชม. ไม่เว้นวันหยุดราชการ คาดว่าผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็วเนื่องจากการยื่นผ่านระบบแอพพลิเคชั่นเป็นระบบที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง
นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำนักงานได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเน้นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้วางเงินประกัน (ชื่อตรงกับบิลค่าไฟฟ้า) สามารถตรวจสอบสิทธิ์และรับเงินผ่านระบบที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจัดเตรียมไว้ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป
“เราต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงที่จะให้ประชาชนเดินทางและเข้าไปในสถานที่ที่แออัด คับแคบ ดังนั้นเพื่อความสะดวกปลอดภัยในช่วงแรกนี้ขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้บริการผ่านระบบออนไลน์เป็นหลักจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง”
ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ระหว่างที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง รอผลตรวจโควิด-19 ได้กักตัวอยู่บ้าน 14 วัน แต่นายอุตตมยังคงปฏิบัติงานตามปกติที่บ้าน โดยมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หารือมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ระยะที่ 2 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดี ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือ
สำหรับมาตรการระยะ 2 จะเป็นมาตรการที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการ ด้วยการผ่อนภาระ และเสริมสร้างทักษะ เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าขณะนี้ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยได้ขยับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องหลังจากที่โรงงานผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนสายการผลิตหันมาเร่งผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิดสีเขียวจากเดิมที่ผลิตได้วันละ 1.71 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 1.9 ล้านชิ้นในวันที่ 18 มีนาคม และในวันนี้ (19 มี.ค.) เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2.2 ล้านชิ้น ทำให้การกระจายไปยังผู้ที่จำเป็นต้องใช้และประชาชนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายในจึงได้ปรับหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นไปในจุดต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเป็นวันละ 1.3 ล้านชิ้นเพื่อกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิกไทย โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย สถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักอนามัย เป็นต้น
ทั้งนี้อีก 900,000 ชิ้น กรมการค้าภายในจะบริหารจัดการจะกระจายให้กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ถูกกักตัวที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ผู้ทำงานในกลุ่มแพทย์ฉุกเฉิน เช่น มูลนิธิ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงเดิม เช่น ผู้ให้บริการในสนามบิน ตรวจคนเข้าเมือง ส่วนประชาชนทั่วไปได้กระจายผ่านร้านธงฟ้า เซเว่น อีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี วิลล่ามาร์เก็ต ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอินทนิล และล่าสุดกำลังจะกระจายผ่านคาเฟ่ อเมซอน และกรมได้ขอความร่วมมือทางห้างและร้านสะดวกซื้อให้ขายให้ถึงมือประชาชนให้มากที่สุดกันต่อไป
ขณะที่บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมตั้งจุดเติมเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือฟรีที่สถานีบริการประมาณ 200 สาขาใน กทม.และปริมณฑล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ลดการใช้ภาชนะสิ้นเปลืองและการสร้างขยะ เริ่ม 23 มีนาคมนี้