ข่าว

"กรมศุลฯ" แจงกมธ.ปราบโกง เชื่อมีลักลอบส่งออกหน้ากาก

"กรมศุลฯ" แจงกมธ.ปราบโกง เชื่อมีลักลอบส่งออกหน้ากาก

25 มี.ค. 2563

"กรมศุลฯ" แจงกมธ.ปราบโกง เชื่อมีลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัย-ตรวจสอบยาก "โฆษกกรมศุลฯ" ระบุผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมไม่สุจริต สำแดงสินค้าเป็นอย่างอื่น เผยยอดรวมส่งออกหน้ากาก เดือน ก.พ. รวม187 ล้านตัน จ่อเชิญ "อัจฉริยะ" ให้ข้อมูลอนุ พรุ่งนี้ ไม่หวั่นแพร่เชื้อ

 

 

          เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 - ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานกมธ. ได้ตรวจสอบกรณีการกักตุนและการลักลอบส่งออกหน้ากากาอนามัย ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษากมธ.ฯ ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลต่อกมธ. ก่อนหน้านี้ โดยมีข้อสันนิษฐาน ว่ามีการกระบวนการลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัยอยู่จริง เพราะมีกระบวนการอินไซด์เดอร์ และมีการตบแต่งตัวเลขการส่งออก โดยได้เชิญนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรและโฆษกกรมศุลกากร, นายเทพสุ บวรโชติดารา ผู้อำนวยการกองข่าวกรองทางการเงิน และ นายวรเศรษฐ์ สุรพนานนท์ชัย ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข่าวกรองทางการเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้าให้ข้อมูล  

 

         โดยนายชัยยุทธ ชี้แจงถึงการส่งออกหน้ากากอนามัย ว่า ยอดการส่งออกเดือนมกราคม มีจำนวน 158 ตัน, เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 187 ตัน ซึ่งการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนควบคุมปริมาณส่งออก 1-4 กุมภาพันธ์ จำนวน 135 ตัน, ระหว่างคุม 5-20 กุมภาพันธ์ จำนวน 12.7 ตัน และช่วงที่สาม 21-29 กุมภาพันธ์ ส่งออก 38 ตัน 

 

          "ช่วงระหว่างควบคุมการส่งออก อาจมีผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมไม่สุจริตด้วยการสำแดงชื่อสินค้าจากหน้ากากอนามัยเป็นอย่างอื่น แต่กรมศุลกากรไม่สามารถตรวจสอบตู้ส่งออกได้ครบทุกตู้ เพราะการส่งออกแต่ละวันมีมากกว่า 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ และแต่ละปีมีตู้ส่งออกสินค้า มากกว่า 3 ล้านใบ ดังนั้นการตรวจสอบจึงใช้วิธีตรวจสอบแบบการกำหนดความเสี่ยง ส่วนตัวเลขการส่งออกที่แถลงและพบการปรับเปลี่ยนนั้นยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันทางการเมือง" นายชัยยุทธ ชี้แจง 

 

          ขณะที่ตัวแทนของ ป.ป.ง. นั้น เป็นเพียงการชี้แจงในภาพรวม คือ หากพบการกักตุนสินค้าหรือลักลอบส่งออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องสามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบได้ 


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานอนุกมธ. ตรวจสอบเรื่องกระบวนการกักตุนและส่งออกหน้ากากอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 26 มีนาคม อนุกมธ.ได้เชิญนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญกรรม ให้ข้อมูลกับอนุกมธ. จากนั้นวันที่ 1 เมษายน นายอัจริยะ จะให้ข้อมูลเชิงลึกกับ กมธ.ชุดใหญ่อีกครั้ง ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายให้ข้อมูลว่านายฉัจริยะ อาจเป็นบุคคลเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะคลุกคลีในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย นั้น อนุ กมธ.ฯ จะใช้ความระมัดระวัง และเตรียมหน้ากากอนามัยให้นายอัจริยะสวมระหว่างการให้ข้อมูล และเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างเข้าร่วมประชุม หลังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย