ข่าว

ธปท. สั่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ผ่อนบ้าน - รถ - บัตรเครดิต ยืด - ลดจ่าย

ธปท. สั่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ผ่อนบ้าน - รถ - บัตรเครดิต ยืด - ลดจ่าย

26 มี.ค. 2563

เริ่ม 1 เมษายน นี้ ธปท. สั่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ชะลอจ่าย - ลดจ่าย ผ่อนบ้าน - รถ - บัตรเครดิต

 

              นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

อ่านข่าว - หมอธีระวัฒน์ เผย โควิด-19 ระบาดรอบ 2 ที่จีน - คาดรุนแรงกว่าเดิม

 

 

 

              ธปท. ได้ให้ความสําาคัญกับการให้สถาบันการเงินดูแลและให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 โดยได้ออกเป็นแนวปฏิบัติในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 30,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 234,000 ล้านบาท

              ต่อมาได้ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง วงเงินที่ช่วยเหลือไปจึงเพิ่มขึ้น 310,000 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินก็มีการเตรียมพร้อมมากขึ้น จํานวนลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 156,000 ราย แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น และส่งผลกระทบไปในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ธปท. จึงได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการออกมาช่วยเหลือด้านสินเชื่อสําหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป

 

 

 

              "ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระเงินต้น หรือการยืดระยะเวลาของหนี้ออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสําคัญอย่างต่อเนื่อง จนนํามาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.75% นำไปสู่การลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มเติม แต่มองว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดไวรัสโรคโควิด-19 จํานวนมาก"

              นายวิรไท กล่าวว่า มาตรการประกอบด้วย 1. บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ในปี 2563 - 2564 และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% และกลับสู่ 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้

 

 

 

              2. สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจํานำทะเบียน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะผ่อนผัน การชําระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน และผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเต็มเป็นเวลา 6 เดือน

              3. สินเชื่อเช่าชื่อ ประเภทรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 350,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน

              4. ลิสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชําระเงินต้นเป็นเวลา 5 เดือน

              5. สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และ 6. สิ้นเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย

 

 

 

 

              นายวิรไท กล่าวว่า สําหรับมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียนั้น เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะที่ผ่านมามีหลายคนพยายามติดต่อเข้าไปที่สถาบันการเงิน เพื่อที่จะเจรจาขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ทําให้การติดต่อทําได้ยากลําบาก

              มาตรการขั้นต่ำวันนี้ จะช่วยลดภาระและช่วยลดความกังวลที่จะต้องชําระค่างวดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต่ำครั้งนี้ รวมทั้งโครงการพิเศษที่แต่ละสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบนี้ จะไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกหนี้

              โดยลูกหนี้ยังคงมีสถานะปกติต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลูกหนี้รายใดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ และยังได้รับเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง หรือมีรายได้ประจํา ก็อยากแนะนําให้ควรจะชำระเงินตามเงื่อนไขปกติ ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ จะมีเงื่อนไขพิเศษให้ในช่วงนี้ เพื่อช่วยจูงใจให้ชำระเงินได้ตามปกติ โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการเหล่านี้จะลดภาระให้พี่น้องประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน