ข่าว

เพื่อไทย ซัด รบ.ปล่อยรายใหญ่ ไล่จับรายย่อย ไม่ช่วยแก้ไข่แพง

เพื่อไทย ซัด รบ.ปล่อยรายใหญ่ ไล่จับรายย่อย ไม่ช่วยแก้ไข่แพง

27 มี.ค. 2563

เพื่อไทย ชี้ รัฐบาล เหลวแก้ไข่ไก่แพงไม่ต่างจากกรณีหน้ากากอนามัย เชื่อไล่จับรายย่อย แต่ปล่อยพ่อค้ารายใหญ่มีอำนาจคุมกลไกตลาด ไม่ช่วยแก้ปัญหา

 

 

          เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 - นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาไข่ไก่ราคาแพงในช่วงวิกฤตโควิด19 ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล แต่กลับเลือกไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไล่จับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เป็นการบริหารจัดการที่ไม่ต่างจากปัญหาหน้ากากอนามัย ที่ไล่จับรายเล็กแต่ไม่จัดการรายใหญ่ที่กักตุน

 

          ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ส่งออกไข่ไก่ ระบุว่า ภาพรวมไข่ไก่ในปี 2562 ไทยผลิตไข่ไก่ได้ราว 14,807 ล้านฟอง ส่งออก 418 ล้านฟอง หรือคิดเป็นร้อยละ 2.82 ของการผลิตทั้งหมด เฉลี่ยไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้ราววันละ 40-41 ล้านฟอง ใช้บริโภคภายในประเทศวันละประมาณ 39 ล้านฟอง แต่ละวันจะมีไข่ไก่คงเหลือ 1-2 ล้านฟอง ปีนี้ปริมาณการผลิตน่าจะไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก และยังมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เพิ่ม ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ทำให้ปริมาณการผลิตในประเทศน่าจะเพียงพอต่อการบริโภค 

 

          ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ไข่ไก่มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เกิดจากภาวะสินค้าขาดตลาด แต่มีข้อสังเกตว่า เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ปล่อยให้รายใหญ่มีอำนาจทางการตลาดจนชี้นำให้ราคาไข่ไก่ในตลาดสูงขึ้น รวมทั้งปล่อยให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีอิทธิพลต่อปัจจัยการผลิตจนเกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรอง จะเห็นได้ว่าเมื่อไข่ไก่ราคาถูกเกษตรกรก็รับผลกระทบ แต่พอไข่แพงเกษตรกรก็ถูกควบคุมที่หน้าฟาร์ม ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุนที่สูง ในสถานการณ์เช่นนี้ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยบางรายก็จำเป็นต้องขึ้นราคาขายปลีก เพราะราคาขายส่งปรับตัวสูงขึ้น.

 

 

 

          รัฐต้องเข้าไปดูต้นตอของปัญหาว่า เหตุที่พ่อค้าแม่ค้าขายปลีกไข่ไก่ในราคาสูงขึ้น เกิดจากปัญหาใด ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุโดยจับกุมพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบกลไกราคาที่ผิดปกติ ตั้งแต่ต้นทุนฟาร์ม การผลิต พ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อไม่ให้เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และผู้บริโภคต้องรับภาระในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ 

 

          "ขอให้รัฐบาลทบทวนการบริหารจัดการสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 ให้ดี โดยเฉพาะกรณีไข่ไก่ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของคนทุกระดับ อย่าให้พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกรรายย่อย กลายเป็นแพะรับบาป แต่ขอให้จริงจังกับการแก้ปัญหาในระยะยาวทั้งระบบ โดยเฉพาะที่ต้นตอของปัญหาด้านการผลิต และกลไกทางการตลาด อย่าบริหารจัดการเหมือนกรณีหน้ากากอนามัยจนขาดตลาด ไล่จับแค่รายย่อย แต่รายใหญ่ยังลอยนวล" นางสาวจิราพร กล่าว