ข่าว

นักวิจัยสหรัฐฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ให้หมอนำมาใช้ใหม่ได้ 

นักวิจัยสหรัฐฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ให้หมอนำมาใช้ใหม่ได้ 

28 มี.ค. 2563

หน้ากากอนามัยแบบ N95 ที่บุคลากรการแพทย์จำเป็นต้องใช้ป้องกันตัวเองขณะดูแลรักษาผู้ป่วย กำลังขาดแคลนถึงขีดอันตรายถึงขั้นที่แพทย์บางคนสวมหน้ากากใช้แล้วซึ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ 


 

                             แต่ขณะนี้ นักวิจัยห้องแลบ  Duke Regional Biocontainment มหาวิทยาลัย Duke ได้พัฒนาวิธีการทำความสะอาดหน้ากาก N95 โดยไม่ทำความเสียหาย เพื่อให้บุคลากรการแพทย์สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความวิตกให้กับโรงพยาบาลที่อุปกรณ์ป้องกันรับเชื้อจากคนไข้เหลือน้อยเต็มที่ 

 

                            นักวิจัยได้เผยแพร่ขั้นตอนทำความสะอาดหน้ากากอนามัย เพื่อให้โรงพยาบาลอื่นๆได้นำไปใช้ด้วย 

 

                            เวน โทมาน ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวะและความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่า นักวิจัยใช้ไอระเหยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ฆ่าเชื้อหน้ากาก N95แบบเดียวกับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ในห้องแลบที่ทำมานานหลายสิบปี เพียงแต่ไม่เคยคิดว่าจำเป็นต้องใช้กับหน้ากากที่ในยามปกติแล้วไม่ควรใช้ซ้ำ 

 

                            การฆ่าเชื้อจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษในห้องปิดเพื่อควบคุมสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ นักวิจัยได้ทำความสะอาดหน้ากากที่โรงพยาบาล ดุก เฮลท์ ได้ถึง 500 ชิ้นในหนึ่งวงรอบ ใช้เวลา 4 ชม. และกำลังเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้นอีก 

 

                            เคยมีผลวิจัยที่พบว่าหน้ากาก N95 อาจนำมาใช้ซ้ำได้หลังฆ่าเชื้อ 30-50 ครั้ง แต่โทมานและทีมงานกำลังประเมินว่าใช้บ่อยได้แค่ไหนหลังรักษาผู้ป่วยติดไวรัสโคโรน่า แต่ไม่น่าจะถึง 30ครั้ง นักวิจัยกล่าวว่า หน้ากากชนิดนี้ทนกระบวนการฆ่าเชื้อได้ดี ดังนั้น  จึงไม่ได้ทำความเสียหายหรือลดประสิทธิภาพลง ทั้งนี้ก่อนนำกลับไปใช้ใหม่ ทีมงานจะตรวจสอบการฉีกขาดก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เสียรูปทรง และยังสวมได้แนบสนิทใบหน้า