29 มี.ค. 2563

"หมอเลี๊ยบ" แนะเลิกด่านตรวจคัดกรองโควิด19 หวั่นตำรวจติดเชื้อ และเกิดการแพร่กระจาย ชี้ควรปรับบทบาทตำรวจปูพรมลุยค้นหาผู้ติดเชื้อ ก่อนแพร่กระจายมากกว่านี้

วันที่ 29 มีนาคม 2563 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)  กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดด้วยการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 ว่า อันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19จากประชาชนที่ไม่รู้ตัวว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว

อ่านข่าว : ผวา 'พ.ต.ท.' ติดโควิดปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านคัดกรอ

“ผมแนะนำให้เลิกด่านตรวจคัดกรอง ทุกด่านทั่วประเทศไทย เพราะมองไม่เห็นประโยชน์อะไร อีกทั้งเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ้นเปลืองงบประมาณ เหตุทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรจะระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้”นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรระดมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลุยปูพรมแต่ละพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองทั่วประเทศ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด19 ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิลำเนา จากนั้นต้องติดตามและทำงานประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

 ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แนะให้รณรงค์ประชาชนสวมใส่ “Face Shield” เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ชี้ทำเองได้ง่ายด้วยต้นทุนวัสดุเพียง 7 บาท

 อดีตรมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเรื่องการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเสนอให้ใช้ “หน้ากากป้องกันใบหน้า” หรือ “Face Shielding” ในการป้องกันเชื้อไวรัสโดยมีเนื้อหาดังนี้

เอาชนะโควิดด้วย Face Shielding : จากสูงสุดคืนสู่สามัญ

1) วันแรกหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีมาตรการหลากหลายแตกต่างกันไปทั่วประเทศ บางแห่งประกาศเคอร์ฟิว บางแห่งตั้งด่านตรวจบนเส้นทางระหว่างจังหวัด ทั้งๆที่มาตรการเหล่านั้นไม่มีผลต่อการควบคุมโรคโควิดได้จริง

เป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” หรือถ้าเป็นภาษายุคใหม่ก็เป็นการ “เล่นใหญ่ไฟกระพริบ”

2) ลองตั้งสติก่อนดีไหมครับ ก่อนที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจมากกว่านี้

3) การรับมือกับโรคโควิด เราแบ่งได้ 3 ขั้นตอนคือ

ก. การป้องกันโรค ได้แก่ Social Distancing, ใส่หน้ากาก, ล้างมือ, กินร้อน ช้อนประจำตัว และวัคซีน (ถ้ามี)

ข. การควบคุมโรค ได้แก่ ตรวจกรองหาผู้ป่วย, การกักกันตัวผู้เสี่ยงติดโรค 14 วัน

ค. การรักษา ได้แก่ การรักษาประคับประคอง, การให้ยาต้านไวรัส หรือ Hydroxychloroquine+Azithromycin และการรักษาผู้ป่วยหนักใน ICU

4) ในทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ ขั้นตอนการป้องกันโรค หากทำได้จริงจัง จะได้ผลดีมาก ลดอัตราป่วยได้รวดเร็ว และใช้ทรัพยากรน้อย

5) ทราบหรือไม่ว่า เมื่อ 39 ปีที่แล้ว มนุษย์เผชิญกับโรคติดต่อจากไวรัสชนิดหนึ่งที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงวันนี้ประมาณ 32 ล้านคน ผู้รับเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้ในระหว่างที่ไม่มีอาการ ช่วงแรกของการระบาด สร้างความแตกตื่นและความหวาดกลัวต่อผู้ติดเชื้ออย่างมาก ไม่ต่างจากโรคโควิดในวันนี้

แต่ผ่านมา 39 ปี เราอยู่กับโรคนี้อย่างมั่นใจว่า เราสามารถป้องกันได้ แม้ไม่มีวัคซีนก็ตาม

6) โรคที่รุนแรงและมีลักษณะคล้ายโควิดเช่นนี้ คือโรคอะไร และอะไรทำให้เราไม่กลัวโรคนี้อีกต่อไป ผมจะเล่าให้ฟัง

7) โรคดังกล่าวคือ โรค HIV/AIDS ที่เริ่มต้นมาจากลิงสู่คน แล้วแพร่ระบาดทางเพศสัมพันธ์และเข็มฉีดยา ไม่มีทางทราบได้ว่า ผู้แพร่เชื้อเป็นโรคนี้จากสภาพร่างกายภายนอกในระยะแรก

ช่วงเริ่มต้น ไม่มียารักษา ผู้เป็นโรคนี้เสียชีวิตทั้งหมด ปัจจุบันมียาต้านไวรัสแล้ว แต่เรายังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนสำเร็จ

8)มนุษย์อยู่ร่วมกับเอดส์ มาได้ตลอด 39 ปี อย่างสันติด้วยอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆที่เรียกว่า “ถุงยางอนามัย” ซึ่งคิดค้นมาใช้เพท่อคุมกำเนิด แต่ได้กลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อกรกับไวรัสเอดส์

นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์คนแรก เป็นคนนำเสนอนโยบายการใช้ถุงยางอนามัย 100%ในทุกพื้นที่ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ต่อมากลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษย์กับเอดส์ไปตลอดกาล เพราะทำให้มนุษย์มีเวลาพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ที่ได้ผล ผู้ติดเชื้อมีชีวิตยืนยาวขึ้น

9) แล้วเราได้ข้อคิดจากเรื่องถุงยางอนามัยอย่างไร

จากถุงยางอนามัยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อคุมกำเนิด แต่กลับมีคุณอนันต์ในการป้องกันโรคเอดส์

10) จากการประมวลความรู้ในวันนี้ โรคโควิดติดต่อเข้าร่างกายผ่านทาง ตา จมูก และปาก โดยมีมือเป็นส่วนสำคัญในการป้อนไวรัสเข้าสู่ทั้งสามช่องทาง

ดังนั้น ถ้าเราไม่ยอมให้ไวรัสเข้าไปทาง ตา จมูก และปาก เหมือนกับ เราไม่ยอมให้ไวรัสเอดส์เข้าไปในเลือด ผ่านทางแผลถลอกเล็กน้อยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ เราก็ควรป้องกันโรคโควิดได้...มิใช่หรือ

ในเมื่อ.....

เราใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไวรัสเอดส์

เราสวมรองเท้าเพื่อป้องกันพยาธิปากขอ

เรานอนในมุ้งเพื่อป้องกันไข้เลือดออก

เราไม่กินปลาดิบเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ

เราต้มน้ำก่อนดื่มเสมอเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค

การป้องกันโรคติดต่อโดยสร้างเกราะป้องกัน ง่ายๆอย่างนี้นี่เอง

แล้วทำไมเราป้องกันโรคโควิดไม่ได้ดีนัก ทั้งๆที่เรารู้ช่องทางขาเข้าของไวรัส

ทำไมเล่า...หน้ากากอนามัย หรือการล้างมือ เราจึงไม่สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า “ใช้ป้องกันโรคโควิดได้” จนเราต้องใช้วิธีการ Social Distancing และ Lockdown เป็นมาตรการสำคัญ

11) ทั้งนี้เป็นเพราะหน้ากากอนามัยใส่แล้วอึดอัด ต้องคอยขยับตลอดเวลา จนนักวิชาการต่างประเทศบางคนบอกว่า ยิ่งใส่หน้ากากอนามัยยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

อีกทั้งหน้ากากอนามัยไม่ได้ป้องกันดวงตา สารคัดหลั่งจึงกระจายเข้าไปในดวงตาได้ บางครั้งเราก็เผลอขยี้ตาทั้งๆที่ไม่ได้ล้างมือ

12) เรามีถุงยางอนามัยสำหรับโรคเอดส์ แล้วโรคโควิดล่ะ เราจะมีอาวุธอะไร

ผมขอเสนอให้ใช้ Face Shield ซึ่งใช้กันอยู่แล้วในวงการอุตสาหกรรมว่า เหมาะที่สุดในการป้องกันโรคโควิด เพราะ

- ป้องกันได้ทั้ง ตา จมูก และปาก

- ไม่อึดอัดเหมือนใส่หน้ากาก หายใจได้สบายกว่า

- เป็นเสมือนเกราะป้องกันไม่ให้เราเผลอใช้มือที่มีไวรัสมาสัมผัส ตา จมูก และปาก ผมเคยเห็นรายงานที่ระบุว่า ในวันหนึ่งๆ เราใช้มือสัมผัสใบหน้ากว่า 90 ครั้งโดยไม่รู้ตัว

- แผ่นพลาสติกด้านหน้าใช้กันสารคัดหลั่งได้ ดี เพราะสารคัดหลั่งที่ออกมาจากผู้ติดเชื้อ พุ่งเป็นแนวโค้งในรูปละอองฝอยไม่เกิน 2 เมตร แรงโน้มถ่วงย่อมทำให้ละอองฝอยเหล่านั้นตกพื้น ไม่ย้อนขึ้นผ่านใต้คาง และไม่ย้อนหันหลังกลับมาที่ใบหน้าเมื่อพุ่งผ่านใบหูไปแล้ว

- ไม่จำเป็นต้องโค้งแนบชิดกับใบหน้า เพราะเราไม่ได้ป้องกันฝุ่น เช่น PM 2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆและน้ำหนักเบา แต่ใช้ป้องกันสารคัดหลั่งซึ่งมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่า (ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งทำงานในห้องผู้ป่วยที่เป็นระบบปิด เสี่ยงที่จะพบการกระจายของไวรัสมากกว่า)

- อายุการใช้งานนาน สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัสด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำสบู่

13) เราสามารถทำ Face Shield เองได้อย่างง่ายดาย ด้วยต้นทุนวัสดุเพียง 7 บาท และเปิดดูขั้นตอนการทำได้ใน Youtube ซึ่งมีคลิปสอนวิธีทำเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

14) เราสามารถทำ Face Shield ให้สวยงามเป็นแฟชั่นก็ได้ เพราะมี Makers เก่งๆไม่น้อยที่ช่วยสร้างสรรค์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

13) ในกรณีของโรคเอดส์ จะป้องกันโรคได้ต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง 100% แต่ในกรณีของโรคโควิด ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยในการกระจายของเชื้อ (R0) เท่ากับ 1.4-3.9 ถ้ามีผู้ใส่ Face Shield เพียง 29-74% ของประชากร ก็สามารถควบคุมโรคได้แล้ว

แต่ถ้าประชาชนทุกคนใส่ Face Shield ยิ่งป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิดได้ชะงัด

14) ฟังดูง่ายดายไปหน่อยไหม ทำไมไม่มีใครคิดมาก่อน

ลองทบทวนเรื่องถุงยางอนามัยกับโรคเอดส์อีกครั้ง

ทำไมง่ายดายอย่างนั้น ทำไมไม่มีใครคิดมาก่อนคุณหมอวิวัฒน์

15) ช่วยกันรณรงค์ใส่ Face Shield กันให้มากๆจนถึง 100% ยิ่งดี

เราจะได้ไม่ต้องทำ Social Distancing กันไม่รู้จบ

แต่หันมาทำ Face Shielding ซึ่งทำได้ง่ายกว่าแทน

16) แล้วการขี่ช้างจับตั๊กแตน จะสิ้นสุดโดยเร็ว

 

 ——33——