ข่าว

ข่าวปลอมซ้ำวิกฤติโควิด-19

ข่าวปลอมซ้ำวิกฤติโควิด-19

29 มี.ค. 2563

ผู้ช่วยรมต.ยธ. เตือนข่าวปลอมระบาด ซ้ำเติมวิกฤติโควิด-19 แนะประชาชนระวังอย่าแชร์ต่อ

          วันที่ 29 มีนาคม นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากเรือนจำกลางอุดรธานีว่ามีการปล่อยข่าวปลอมโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กมีข้อความว่า 5,000 ชีวิตเสี่ยงติดโควิด-19 และเรือนจำกลางอุดรธานีขาดแคลนทุกอย่างต้องการความช่วยเหลือด่วน โดยทางเรือนจำชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงและขณะนี้ไม่ได้ขอความช่วยเหลือถึงหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาชนตามที่ถูกกล่าวอ้าง ทั้งนี้ นายภัทรพงศ์ หมวกสกุล ผบ.เรือนจำกลางอุดรธานี ระบุว่าอาหาร เวชภัณฑ์ทุกอย่างมีพอดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งข่าวที่ปล่อยออกมานั้นเป็นข่าวปลอม

 

 

 

          นายสามารถ เผยอีกว่า ตนในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม จึงได้ประสานไปยัง นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะคณะทำงานศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมโพสต์ข้อมูลเตือนประชาชนผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยหรือ ศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ ดังนั้นอยากฝากเตือนไปยังพ่อแม่พี่น้องประชาชนว่าอย่าโพสต์หรือแชร์ข่าวปลอมในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 เพราะเวลานี้ประเทศต้องการความร่วมมือและข้อมูลจริงจากหน่วยงานรัฐเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ

ข่าวปลอมซ้ำวิกฤติโควิด-19

          ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการรับมือวิกฤติโควิด-19 กับทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างในเรือนจำท่านรัฐมนตรีมีมาตรการ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย ส่วนการปล่อยข้อมูลเท็จก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้นั้นมีเรื่องการนำเสนอข่าว คือ ห้ามนำเสนอข่าวที่มีการแพร่หลายตามสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อไวรัสโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด กรณีเช่นนี้จะให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนหรือระงับ หรือสั่งให้แก้ข่าว หรือหากมีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ให้อำนาจและห้ามในเรื่องของการโพสต์ข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

          นายสามารถ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีกักตุนสินค้าเช่น ไข่ไก่ หน้ากากอนามัยก็ได้มีข้อห้ามอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้า ทั้ง ยาเวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน สำหรับสินค้าควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปริมาณการผลิต การควบคุมราคาจำหน่ายและการส่งออกไปปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในเรื่องของการกักตุนไข่ไก่ที่อาจมีประชาชนบางรายผันตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลางไปรับจากฟาร์มมาขายต่อกินส่วนต่าง หรือถ้าหน้าฟาร์มขายราคาสูงกว่าเกินกฎหมายที่จะรับมาขายได้ขอให้หยุด ไม่เช่นนั่นท่านอาจจะจะถูกดำเนินคดีเพราะเป็นตาม กฏหมายว่าด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

 

 

 

          นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) มีการลงทะเบียนกว่า 8 ล้านคน พบปัญหาเรื่องร้องเรียนว่าบางคนมีอาชีพรายได้สูงและไม่ได้เข้าเงื่อนไขแต่ก็มีการลงทะเบียนรับเงินนั้น ขอเตือนว่าคนกลุ่มดังกล่าวอาจถูกดำเนินคดีย้อนหลัง และการกระทำดังกล่าวทำให้ไปแย่งสิทธิ์ของบุคคลอื่น รวมถึงมีคนบางกลุ่มได้มีการโพสต์ว่าระบบล่มและมีการให้ข้อมูลบิดเบือน ซึ่งอาจเข้าเงื่อนไขการปล่อยข้อมูลเท็จ ตามกฏหมาย ดังนั้นขอฝากให้ระมัดระวังเพราะสุดท้ายอาจถูกดำเนินคดี ส่วนตัว

          "ผมมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน มีความตั้งใจแก้ปัญหาโควิด-19 และทำงานอย่างจริงจังเพื่อฝ่าวิกฤตโรคระบาดไปได้ โดยประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าประเทศในอาเซียนและประเทศยุโรป ดังนั้น ขอให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนร่วมมือกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และที่สำคัญอย่าปล่อยข้อมูลเท็จเพราะอาจสร้างความสับสนในสังคม ยิ่งในวันที่ 1 เม.ย. ตรงกับวัน April Fool's Day หรือ "วัน โกหก" อย่าโพสต์ในสื่อออนไลน์โกหกว่าตนเองติดโควิด-19 ซึ่งจะผิดกฎหมาย สำหรับผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หรือ ม.41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี" นายสามารถ กล่าว

          นายสามารถ กล่าวด้วยว่า ขอฝากเตือนเว็ปปลอมที่ทำขึ้นมาให้ประชาชนสับสนเกี่ยวกับการลงทะเบียน ตอนนี้ที่ตรวจสอบพบมี 44 เว๊ปไซท์ ดังนั้นขอเตือนพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อไปกรอกข้อมูลผิด เพราะอาจจะถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนเองและทรัพย์สินได้ ผมมั่นใจว่าถ้า คนไทยทุกคนร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน เราจะผ่านวิกฤตโควิด-19นี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน