ข่าว

ผวา'พ.ต.ท.'ติดเชื้อตั้งด่าน-กัก6ลูกน้องใกล้ชิด

ผวา'พ.ต.ท.'ติดเชื้อตั้งด่าน-กัก6ลูกน้องใกล้ชิด

30 มี.ค. 2563

ผวา "พ.ต.ท." ตั้งด่านสกัดโควิด-19 ติดเชื้อ สั่งกัก 6 ตำรวจปฏิบัติงานใกล้ชิด สตช.แจงรับไวรัสจากที่อื่นไม่เกี่ยวภารกิจ ขณะที่หลายจังหวัดล็อกดาวน์ปิดตำบลห้ามเข้า-ออกหยุดระบาด

          สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมประกาศปิดพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งขอให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งดการเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งตั้งด่านสกัดคัดกรองทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาด แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

 

 

 

          ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม มีรายงานว่าโลกออนไลน์ รวมทั้งสื่อกระแสหลักได้นำเสนอข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ยศ “พ.ต.ท.” สน.ตลิ่งชัน ติดเชื้อไวรัสโควิดจากการตั้งด่านสกัดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนหวาดผวาไปทั้งโรงพัก รวมทั้งประชาชนที่ผ่านด่านคัดกรอง

          ขณะที่ พ.ต.อ.วราวัชร์ ธรรมสโรช ผกก.สน.ตลิ่งชัน ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง สน.ตลิ่งชัน ที่ 29/2563 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจกักบริเวณภายในบ้านพัก ระบุว่า ด้วยได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.วรชัย ธนนิธิสกุล สารวัตรจราจร สน.ตลิ่งชัน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโรคดังกล่าว สน.ตลิ่งชัน จึงได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.นายนี้กักตัวอยู่ในบริเวณบ้านพักของตนเอง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-8 เมษายน รวม 6 นาย ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด 

          อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับ พ.ต.ท.ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งด่านคัดกรองตามพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากการประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ไทม์ไลน์ของนายตำรวจคนนี้พบว่า วันที่ 16-18 มีนาคม มาทำงานตามปกติ มีอาการไข้เล็กน้อย วันที่ 19-25 มีนาคม มีอาการไข้เล็กน้อย นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานส่วนตัวเท่านั้น วันที่ 26 มีนาคม ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชและถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ กระทั่งวันที่ 27 มีนาคม ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลตำรวจ

          ต่อมาเวลา 11.45 น. วันที่ 29 มีนาคม พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7 เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากพ.ต.อ.วราวัชร์ ยืนยันว่า พ.ต.ท. ที่พบว่ามีอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจแล้วก่อนที่จะมีการตั้งด่านจุดตรวจจุดสกัดป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าวตามประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 จากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า พ.ต.ท.ดังกล่าวได้ไปแข่งฟุตบอลมากระทั่งสงสัยว่าตัวเองมีอาการผิดปกติคล้ายกับติดเชื้อไวรัสดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุจึงได้กักตัวไว้ก่อนที่จะเข้ารักษาตัว นอกจากนี้ต้องรอผลตรวจสอบสาเหตุการติดเชื้อดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้งว่าติดมาได้อย่างไร ส่วนลูกน้อง 6 รายที่ทำงานใกล้ชิดกับพ.ต.ท.คนดังกล่าว เบื้องต้นได้กักตัวเอาไว้หลัง พ.ต.ท.ดังกล่าวเข้ารักษาตัวแล้ว โดยให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าติดเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วยหรือไม่ต่อไป

          ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ชี้แจงว่า จากการสอบสวนประวัติโรคติดต่อของนายตำรวจยศ พ.ต.ท.รายดังกล่าว คาดว่าน่าจะติดมาจากที่อื่นและยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจจุดตรวจคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด ซึ่งผู้ป่วยไปพบแพทย์โรงพยาบาลศิริราช และปัจจุบันถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

          รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจจุดตรวจคัดกรอง มีมาตรการในการรับมือและป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่คัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการยับยั้งและป้องการการแพร่ระบาด ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความเป็นห่วงสุขภาพตำรวจทุกนายที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ กำชับให้เพิ่มความระมัดระวังและความรอบคอบในการป้องกันตนเองให้มากที่สุด

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) รายงานข้อมูลข้าราชการตำรวจที่ติดไวรัสโควิด-19 ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 13-28 มีนาคม มีจำนวน 36 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 2 ราย แบ่งเป็น บช.น. 25 ราย ภ.1 3 ราย ภ.8 1 ราย ภ.9 1 ราย บช.ก. 1 ราย บช.ปส. 1 ราย บช.ส. 1 ราย สตม. 1 ราย บช.ตชด. 1 ราย รพ.ตร. 1 ราย และมีข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงกักตัวเฝ้าระวังอาการอีก 666 ราย

          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวพบว่าในต่างจังหวัดเริ่มรุนแรงมากขึ้น หลายจังหวัดมีการออกประกาศปิดพื้นที่งดการเดินทางเพิ่มเติม รวมทั้งออกคำสั่งให้ร้านสะดวกซื้อเปิดปิดเป็นเวลาหลายจังหวัดแล้ว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดออกไปอีก โดยพบว่าวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงนามคำสั่งจังหวัดนราธิวาสที่ 1362/2563 เรื่อง กำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มเติม โดยมีคำสั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร และ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี มีกำหนด 14 วัน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-13 เมษายน

          ขณะที่ จ.ปัตตานี มีการออกมาตรการเข้มอีก​โดยมีหนังสือแจ้งนายอำเภอทุกอำเภอ​ ชุมชนทุกชุมชน​และผู้นำในพื้นที่ยกระดับความเข้ม ประกอบด้วย 1.ด่านขาออกทั้งหมดห้ามผ่านยกเว้นตามคำสั่งและหรือที่หัวหน้าด่านตรวจพิจารณาว่าจำเป็น 2.ด่านขาเข้าจากนราธิวาสและยะลาห้ามผ่านเด็ดขาด ให้เลี้ยวรถกลับ ยกเว้นตามคำสั่งที่แจ้ง และหรือหัวหน้าด่านตรวจพิจารณาเห็นว่าจำเป็น 3.ด่านขาเข้าออก ทั้งหมดห้ามผ่านตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น. ยกเว้นตามคำสั่ง และหรือหัวหน้าด่านตรวจพิจารณาเห็นว่าจำเป็น 4.ห้ามรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารรับจ้าง หรือยานพาหนะอื่นใดที่มีผู้โดยสารผ่านเข้าออก หากมีความจำเป็นให้ควบคุมรถโดยสารดังกล่าวไปรายงานตัวที่โรงยิม สนามกีฬาอบจ.ปัตตานี เพื่อทำการคัดกรองอละสั่งให้อำเภอท้องที่มารับตัวไปกักกันต่อไป

 

 

 

          นอกจากนั้นด่านเกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก และด่านนิคมโคกโพธิ์ ต.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ​ซึ่งเป็นด่านประตูเมือง​เข้าออกในพื้นที่ปัตตานี​ ยะลา​ นราธิวาส​ และออกสู่ภาคใต้ตอนบน จะเข้มงวดเรื่องการผ่านเข้าออกยานพาหนะ ดังนี้ 1.ห้ามยานพาหนะ เข้าสู่ จ.ปัตตานี ตั้งแต่เวลา 20.00-08.00 น. 2.ห้ามยานพาหนะออกนอกพื้นที่ จ.ปัตตานี เด็ดขาดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยกเว้นยานพาหนะตามประกาศ เช่น ทางการแพทย์ รถสินค้าอุปโภคบริโภค รถทางราชการ รถฉุกเฉิน เป็นต้น

          เช่นเดียวกับที่ จ.ชัยภูมิ จังหวัดต้องออกมาตรการออกมาเข้มงวดต่อเนื่อง สั่งให้มีการตั้งด่านตรวจเข้มห้ามคนเข้าออกพื้นที่ใน 2 หมู่บ้าน ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นรวมกันมากกว่า 3,000 ครอบครัว ใน 2 อำเภอ คือ ภูเขียว และเนินสง่า ดตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

          ขณะเดียวกันนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มีคำสั่งเป็นมาตรการด่วนตามภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินภายในจังหวัดและทั่วประเทศเพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนทุกคนออกนอกบ้านในตั้งแต่ช่วงเวลา 20.00-05.00 น.ของทุกวัน และห้ามไม้ให้หัวหน้าส่วนข้าราชการ พนักงานลูกจ้างรัฐ องค์กรผู้นำปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกคนออกนอกพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยเด็ดขาด รวมทั้งประชาชนทุกคนที่ไม่มีเหตุจำเป็นออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

          ส่วนที่ จ.กระบี่ ประกาศให้ร้านค้าขยาดย่อย ร้านค้าชุมชน ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทยอยปิดให้บริการในเวลา 22.00 น.ตามประกาศของจังหวัดกระบี่ โดยให้เปิดบริการตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. 

          สำหรับ จ.พิจิตร ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านวังปลากราย ต.ห้วยแก้ว อำเภอบึงนารางจัดล็อกดาวน์หมู่บ้าน ห้ามประชาชนเข้าออกในหมู่บ้าน หลังผู้ป่วยพบไวรัสโควิดจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาในพื้นที่งานอุปสมบท

          นอกจากนี้ที่ จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือสั่งให้ร้านสะดวกซื้อทุกประเภทปิดการจำหน่ายสินค้าในเวลา 22.00 น. และเปิดใหม่เวลา 05.00 น. ถึงวันที่ 12 เมษายน และกำลังพิจารณาสั่งห้ามร้านขายของชำไม่ให้จำหน่ายสุราและเบียร์เพื่อไม่เปิดโอกาสให้มีการตั้งวงสังสรรค์ดื่มสุราเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการทิ้งระยะห่างของสังคมลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมสั่งการให้ฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอปพร.เพิ่มการตั้งจุดสกัดคัดกรองประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัด โดยแบ่งจุดสกัดไว้เป็น 2 วงรอบ คือ พื้นที่ส่วนในของจังหวัดรวม 8 เส้นทาง รอบนอกที่ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง 10 อำเภอ จำนวน13 จุด

          ขณะที่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานและออกประกาศจังหวัดภูเก็ตฉบับที่ 10/2563 เรื่องปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้ปิดชายหาดทุกแห่งเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และปิดสวนสัตว์ สถานที่ที่มีการแสดงโชว์สัตว์ทุกประเภท นอกจากนี้มีมติให้ปิดถนนสายบางลาที่กำหนดอยู่ในเขตพื้นที่บริเวณที่ 2 (อ.กะทู้) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2546 ตลอดทั้งสาย โดยห้ามบุคคล ยานพาหนะ เข้าในถนนสายดังกล่าวตลอดเวลา ยกเว้นผู้ที่พำนักในเขตพื้นที่ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-10 เมษายน หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ รวมทั้งอาจได้รับโทษตามมาตร 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548