ข่าว

ใช้ IT ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังในเรือนจำ สกัดเสี่ยงโควิด

ใช้ IT ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังในเรือนจำ สกัดเสี่ยงโควิด

30 มี.ค. 2563

"เลขาฯ ศาลยุติธรรม" เผย ให้เน้นใช้คอนเฟอเรนซ์-สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ศาลแต่ละพื้นที่กำหนดแนวปฎิบัติเหมาะสมได้ ย้ำคดียังทำเปิดเผย ผู้ต้องหา/จำเลย ใช้สิทธิสู้คดีได้เต็มที่ เชื่อเป็นอีกทางลดเสี่ยง ผู้ต้องขังไม่วิตกติดโควิด ไม่ซ้ำรอยแหกคุกบุรีรัมย์

 

 

              30 มี.ค.63 - นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ลงนามออก ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19)
 

 

อ่านข่าว - ช็อก ข้าราชการ สธ.ติด'โควิด-19' เข้าออก-ทำเนียบฯ- ประชุมหลายที่
 

 

 

 

            โดยระเบียบมีใจความสำคัญว่า จากที่ปรากฏสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและสภาพสังคม และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดแก่ผู้ถูกคุมขังที่แออัดอยู่ในเรือนจำ หรือสถานที่กักขังและแก่บุคคลากรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

 

 

             ขณะเดียวกันการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือสถานที่กักขังที่ต้องปราศจากเสรีภาพ ยังต้องคงไว้ซึ่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ประธานศาลฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ออกระเบียบมีมาตรการดังนี้

 

 

            - ในการติดต่อระหว่างศาล กับพนักงานสอบสวน , พนักงานอัยการ , ทนายความ , คู่ความในคดี และเจ้าพนักงานเรือนจำหรือเจ้าหน้าที่สถานที่กักขัง อาจกระทำโดยโทรสาร (แฟกซ์) , สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นก็ได้

 

 

           - การสอบถามผู้ต้องหา หรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหา ศาลพึงพิจารณาดำเนินการให้มีการสอบถาม โดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87/1 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสอบถามผู้ต้องหา หรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาในลักษณะประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556 และพึงอนุโลมใช้กับการยื่นคำร้องขอหมายขังและการสอบถามผู้ต้องหา ตั้งแต่ครั้งแรกด้วย

 

              - การถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ , การอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง , การสอบถามคำให้การ , การตรวจพยานหลักฐาน และการสืบพยาน ศาลพึงพิจารณาดำเนินการโดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสืบพยานคดีอาญาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556 โดยอนุโลม

 

 

            - การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ศาลพึงพิจารณาดำเนินการโดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลสูงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2562 โดยอนุโลม

 

 

             ทั้งนี้ข้อกำหนดแนวปฏิบัติระเบียบดังกล่าว ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศวันที่ 30 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งการดำเนินการตามระเบียบนี้ใช้เฉพาะในช่วงที่ยังมีวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

 

             โดยการดำเนินการต่อผู้ถูกคุมขัง จะต้องดำเนินการโดยเปิดเผยให้ผู้ถูกคุมขังเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง และให้โอกาสในการโต้แย้งคัดค้านได้อย่างเต็มที่ด้วย และเพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศาลอาจกำหนดแนวทางปฏิบัติของแต่ละศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ส่วนกรณีมีความจำเป็นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อำนวยความสะดวกและกำหนดวิธีการนั้นด้วย

 

 

                นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเสริมด้วยว่า การที่ประธานศาลฎีกา ออกระเบียบดังกล่าวนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยีที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยผู้ต้องขังในเรือนจำไม่ต้องออกนอกสถานที่มายังศาล มิฉะนั้นเมื่อกลับเข้าไปในเรือนจำก็จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องถูกกักตัว 14 วันก่อน

 

        วิธีการในระเบียบตรงนี้เป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในเรือนจำซึ่งไวรัสนี้อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ต้องหา/จำเลย ที่ถูกคุมขังมีความตึงเครียด ตรงนี้จึงช่วยในเรื่องมาตรการเฝ้าระวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในเรือนจำอย่างในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ที่ผ่านมาได้อีกทางด้วย