ส่องธุรกิจ"ไม้ดอกไม้ประดับ"ไทยในการอยู่รอดยุควิกฤติ"โควิด-19"
ส่องธุรกิจ"ไม้ดอกไม้ประดับ"ไทยในการอยู่รอดยุควิกฤติ"โควิด-19"
ไม้ดอกหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 มาตรการช๊อตดาวน์(shutdown)ดอกไม้ จึงกลายเป็นสินค้าไม่จำเป็น คนรักไม้ดอกต้องหัวใจสลาย เมื่อเห็นรายงานข่าวดอกไม้นับล้านดอกถูกทำลายทิ้งในแต่ละวัน อันเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ในประเทศที่ได้ชื่อว่าตลาดประมูลไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเนเธอร์แลนด์
อุดม ฐิตวัฒนะสกุล เจ้าของสวนอุดมการ์เด้น
ประเทศผู้ส่งออกไม้ดอกรายใหญ่ทั้งเนเธอรแลนด์ เคนยา เศร้ากันเป็นทิวแถว ตัวเลขส่งออกลดลง 70-80% จนต้องเอาดอกไม้มาทำลายทิ้ง ตลาดกลางดอกไม้เนเธอรแลนด์ตั้งมากว่า 100 ปีต้องยอมรับว่าเป็นวิกฤติที่สุดแล้วที่เคยเจอ
“ทางออกเดียวคือเราทำลายพวกมัน” มิคาเอล ฟาน สเคีย โฆษกของ Royal Flora Holland ซึ่งเป็นบริษัทประมูลดอกไม้ชั้นนำของโลกกล่าว อ้างจากสำนักข่าวเอเอฟพี(AFP) ว่ามีผลผลิตดอกไม้ประจำปีของเนเธอร์แลนด์กำลังถูกทำลาย ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าขมขื่นสำหรับประเทศที่ดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของชาติ ทว่าการปิดตัวของร้านค้าและธุรกิจที่จากการระบาดของไวรัสที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลก และจะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย แหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่ส่งออกไปทั่วโลกเช่นกัน
กรมส่งเสริมการเกษตรระบุในส่วนของไม้ดอกไม้ประดับ ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่ง จากข้อมูลในปี 2559 มีพื้ืนที่ผลิตไม้ดอกไม้ประดับมีทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกกว่า 16,000 ครัวเรือน มีผู้ส่งออกว่า 300 ราย มูลค่าส่งออกเฉลี่ย 3.5-4.0พันล้านบาทต่อปี โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย
อุดม ฐิตวัฒนะสกุล อดีตนายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทยและเจ้าของสวนอุดมการ์เด้น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรีกล่าวยอมรับกับ“คมชัดลึก”ว่าธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในช่วงนี้ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ยากกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ผู้บริโภคหยุดซื้อ บริษัทส่งออกหรือพ่อค้าแม้ค้าที่มาซื้อไปขายต่อก็หยุดหมด เหตุลูกค้าไม่มี เพราะงานอีเว้นต่าง ๆ โรงแรมที่พัก ซึ่งใช้ไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งได้หยุดดำเนินการชั่วคราว ทำให้สินค้าไม่มีที่ระบาย ส่วนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ยังพอไปได้ช่วงนี้จะเป็นผู้อยู่บ้านตามนโยบายรัฐบาลอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติที่ต้องการหาไม้ดอกไม้ประดับมาดูแลเปนเพื่อนคลายเหงา
"ตอนนี้เหมือนกันทุกอาชีพ รายได้ลดลง ไม้ตัดใบที่สวนก็ลดลงกว่า50% อย่างลูกค้าหลัก ๆ บริษัทส่งออก ลูกค้ากลุ่มโรงแรม รีสอร์ทหรือลูกค้าที่ซื้อไปประดับตกแต่งงานสอีเว้นท์ต่าง ๆ ตอนนี้หยุดหมด ที่อยู่ได้จะเป็นลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านออนไลน์เป็นหลัก"เจ้าของสวนอุดมการ์เด้นเผยและย้ำว่าธุรกิจไม้ตัดใบยังไม่เสียหายเท่าไม้ตัดดอก เนื่องจากยังดูแลต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีตลาดเข้ามา ขณะที่ไม้ดอก กล้วยไม้พอถึงเวลาก็จะร่วงโรย ไม่สามารถยับยั้งเอาไว้ได้ ซึ่งก็ได้แต่ทำใจ
"ถ้าเป็นดอกไม้สดช่วงนี้แทบจะไม่มีตลาดเลย หยุดหมด ตอนนี้มีทางเดียวคือทางออนไลน์ ใครไวกว่าได้ก่อนอย่างพรรคพวกที่ทำธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ตลาดหลักมีทั้งยุโรปและจีน ช่วงต้นปีตอนที่จีนมีปัญหาโคโรนาไวรัสหนัก เขาห้ามนำเข้าสินค้าทุกชนิด แต่ก็ยังดีมีตลาดยุโรปรองรับ ตอนนี้ตลาดยุโรปมีปัญหา ขณะที่จีนเริ่มเปิดให้นำเข้าสินค้าได้แล้ว แต่นั่นมันของกิน ส่วนไม้ดอกไม้ประดับเขามองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ คิดว่าคงอีกนานกว่าจะฟื้นสำหรับธุรกิจไม้ดอกบ้านเรา"อุดมให้มุมมอง
เช่นเดียวกับ วิชา กิจโกมลเกษตร เลขาธิการสมาพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทยและเจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรีที่มองว่าวิกฤติโควิด-19 เหมือนพายุไต้ฝุ่นที่มาโดยไม่ทันตั้งตัว มีผลกระทบหมดทุกอาชีพไม่เว้นกระทั่งธุรกิจไม่ดอกไม้ประดับ แต่ถ้ามองในมุมบวกก็ดีเหมือนกันจะได้มีเวลานั่งคิดทบทวน คิดค้นหาพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ พันธุ์ลูกผสมหรือขุนไม้เก่าเตรียมไว้เพื่อรอเวลาการกลับมาสู่ภาวะปกติ แม้จะว่าจะไม่รู้โคโรนาไวรัสจะหมดไปเมื่อไหร่ก็ตาม
“ตอนนี้มีคนงานอยู่ 20 กว่าคนก็ไม่ได้ลดค่าจ้างหรือให้ออกนะ เพราะยังมีรายได้อยู่บ้างจากการลูกค้าจรที่แวะเวียนมาซื้อพอจะเป็นได้เป็นค่าจ้างดูแลคนงาน ส่วนเราคงไม่หวังรายได้เยอะขอให้พออยู่่ได้เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปก่อน”เลขาธิการสมาพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับฯกล่าว
ไม้ดอกไม้ประดับ นับเป็นอีกพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากผลพวงการระบาดไวรัสโคโรนา ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังกระจายไปในตลาดซื้อขายไม้ดอกทั่วโลก