ข่าว

หน้ากากอนามัย "เมด อิน ไชน่า" คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ

หน้ากากอนามัย "เมด อิน ไชน่า" คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ

08 เม.ย. 2563

รู้หรือไม่ หน้ากากอนามัยในจีนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หน้ากากป้องกันทางการแพทย์ หน้ากากที่ใช้สวมขณะผ่าตัด และหน้ากากอนามัยทั่วไป ซึ่งทั้งหมดล้วนมีมาตรฐานแตกต่างกัน

 

               ขณะที่ผู้ผลิตจีนจำนวนมากกำลังเร่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลิตวัสดุทางการแพทย์ให้ทันต่อความต้องการด้านการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นในทั่วโลก บางฝ่ายในประเทศตะวันตกกลับยุ่งอยู่กับการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีน

อ่านข่าว - หมอธีระวัฒน์ซัดนายแพทย์ขาดความรู้ความเข้าใจขวางควบคุมโรคโควิด-19

 

 

 

               ไม่นานมานี้ สื่อบางแห่งในเนเธอร์แลนด์ รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขเนเธอร์แลนด์เรียกคืนหน้ากากอนามัยที่ซื้อมาจากจีนสืบเนื่องจาก “ปัญหาด้านคุณภาพ” โดยอ้างว่าหน้ากากชุดนั้น “ไม่เหมาะสำหรับเจ้าหน้าที่การแพทย์ในห้องไอซียู”

               เมื่อวันพฤหัสบดี (2 เมษายน 2563) กระทรวงการต่างประเทศจีนจึงออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นหน้ากากเหล่านั้นมีไว้ใช้สำหรับงานที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ (non-medical masks) เท่านั้น และบริษัทจีนได้แจ้งฝ่ายเนเธอร์แลนด์แล้วก่อนจัดส่ง

               หน้ากากอนามัยแต่ละประเภทมีระดับการป้องกันแตกต่างกัน ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงฯ เตือนทุกฝ่ายให้ “ตรวจสอบคำแนะนำด้านการใช้งานอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาซื้อมานั้น จะตอบโจทย์จุดประสงค์การใช้งาน และหลีกเลี่ยงการรีบร้อนจนสร้างความเข้าใจผิด”

 

 

 

หน้ากากอนามัย เมด อิน ไชน่า คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ

 

 

 

               หากจะกล่าวอย่างละเอียด หน้ากากอนามัยในจีนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หน้ากากป้องกันทางการแพทย์ หน้ากากที่ใช้สวมขณะผ่าตัด และหน้ากากอนามัยทั่วไป ซึ่งทั้งหมดล้วนมีมาตรฐานแตกต่างกัน

               เพื่อเพิ่มการกำกับดูแลด้านคุณภาพ ศุลกากรจีนจะอนุมัติเฉพาะการส่งอุปกรณ์การแพทย์ที่มีใบรับรองการจดทะเบียนซึ่งออกโดยสำนักงานด้านการบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และมีเอกสารประกอบ เพื่อยันยันว่าสินค้าเหล่านั้นสอดคล้องกับมาตรฐานด้านคุณภาพของประเทศปลายทาง

 

 

 

               ประกาศร่วมที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์จีน สำนักงานการศุลกากรจีน และสำนักงานบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่วันพุธ (1 เมษายน 2563) เป็นต้นมา ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเมื่อผ่านพิธีการศุลกากร

               เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยของจีนพุ่งสูงขึ้นเป็น 100 ล้านชิ้นต่อวัน โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เอ็น 95 (N95) แตะที่ 1.6 ล้านชิ้นต่อวัน

               จินไห่ เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรจีน แถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 เมษายน 2563) ระบุว่า ปริมาณการส่งออกเวชภัณฑ์ของจีนอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.73 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 เมษายน 2563) ซึ่งรวมถึงหน้ากากอนามัย 3.86 พันล้านชิ้น

 

 

 

หน้ากากอนามัย เมด อิน ไชน่า คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ

 

 

 

               ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการช่วยชีวิตและเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับการระบาดใหญ่ร่วมกับประเทศอื่นๆ แต่ยังแสดงถึงความไว้วางใจที่ทั่วโลกมีต่อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ซึ่งได้มาตรฐานของจีน

               เมื่อวันศุกร์ (3 เมษายน 2563) หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับ ไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ว่า ทุกฝ่ายควรมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง และแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างกันในกระบวนการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ ผ่านการหารือกันอย่างเท่าเทียม

               ทั้งนี้ หวัง เสริมว่า “การตีตราหรือลดคุณค่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ล้วนไม่เป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในการสกัดกั้นโรคระบาด”

 

 

 

หน้ากากอนามัย เมด อิน ไชน่า คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ

 

 

 

--------------------

ที่มา : xinhuathai.com