ข่าว

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ดันไทยครัวโลกยามวิกฤติไวรัสโรคโควิด-19

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ดันไทยครัวโลกยามวิกฤติไวรัสโรคโควิด-19

14 เม.ย. 2563

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ถกมาตรการด่วนช่วยภาคเกษตรฝ่าวิกฤติไวรัสโรคโควิด-19 เปิดแนวคิดตั้งศูนย์แปรรูปสินค้าเกษตร 77 จังหวัด ช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมผุดไอเดียสร้างแบรนด์ "ผลไม้ไทย ปลอดภัยจากโควิด" ลุยตลาดโลก

 

               14 เมษายน 2563 ที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย เปิดเผยว่า นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตร (AgriBusiness) ได้เป็นประธานในการประชุมผ่านระบบ Video Conference วางมาตรการเร่งด่วนช่วยภาคเกษตรฝ่าวิกฤติโควิด-19 โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมประชุม ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานคณะทำงานเกษตรอินทรีย์ ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

อ่านข่าว - ธนกร อัดหนัก เทพไท แซะอุทธรณ์เยียวยา 5 พัน หุบปากคงไม่ลงแดงตาย

 

 

 

               จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ในปัจจุบัน ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยทั่วไป นายปริญญ์จึงได้มีแนวคิดที่จะหาทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “จัดตั้งและเริ่มเดิน” (Setup & Startup)

               นายปริญญ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาต้องการสร้างโมเดลที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน และต้องแบ่งมาตรการเป็นทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอที่ถือเป็นมาตรการระยะสั้น โดยต้องพิจารณาถึงข้อมูลตัวเลขปริมาณผลผลิตเพื่อให้ทราบถึงดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริงของผลไม้ในประเทศที่กำลังจะออกมาในรอบฤดูถัดไป เพื่อเตรียมวางแผนการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

 

               ปัจจุบันสัดส่วนการบริโภคผลไม้มีสัดส่วนในประเทศ 40% ต่างประเทศ 60% การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด จึงต้องเน้นให้เกิดการบริโภคให้เพิ่มขึ้นไปจากเดิม สำหรับการขายในต่างประเทศ สามารถประกาศตัวได้เลยว่าประเทศไทยพร้อมเป็นครัวของโลกในยามวิกฤติ และมุ่งเน้นไปยังประเทศเป้าหมาย เช่น จีน เกาหลี ฮ่องกง ในเบื้องต้นก่อน ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มมีดีมานด์ เช่นเดียวกันกับในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มมีภาวะขาดแคลนอาหาร พร้อมใส่สัญลักษณ์ “ผลไม้ไทย ปลอดภัยจากโควิด” และประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน รัฐจะเข้ามาช่วยเรื่องการหาช่องทางการตลาด (Market Place) การดูแลเรื่องการขนส่ง กระจายสินค้าที่เป็นปัญหาในปัจจุบันที่ไม่สามารถขนส่งข้ามพื้นที่ได้ ในต่างประเทศอาจเชื่อมโยงกับการบินไทย ส่งสินค้าผ่านคาร์โกทดแทนการขนส่งผู้โดยสารที่ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน และหาภาคีเครือข่ายต่างๆ มาช่วยในการช่วยกระจายสินค้า ส่วนตลาดในประเทศให้ใช้ช่องทางทั้งในส่วนออนไลน์ และ Traditional เช่น รถกระจายสินค้าที่สามารถส่งตรงถึงหน้าบ้านได้

 

 

 

               “ในวิกฤติมีโอกาส ปัจจุบันนอกจากแพลตฟอร์มของภาคเอกชนแล้วยังมีแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐที่มีศักยภาพ ที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ DEPA ซึ่งสามารถนำมาเป็นเครือข่ายในการสนับสนุนการนำสินค้าเกษตรที่เป็นผลไม้ เข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ได้ทันที ทางทีมฯ พร้อมจะเป็นโซ่กลางในการเชื่อมโยงในการคัดสรรและรวบรวมสินค้าจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตรมาจำหน่าย โดยเฉพาะกับภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่ง อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถช่วยกระจายสินค้าไปยังที่พักอาศัยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมถึงมีแนวคิดในการที่จะจัดการแข่งขัน (Fruit Festival) เพื่อส่งเสริมการขายจากแพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยกระตุ้นยอดขายอีกด้วย” นายปริญญ์ กล่าว

 

 

 

               นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า บทบาทการทำงานของคณะกรรมการธุรกิจเกษตร จะทำงานโดยเน้นให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน และจะขับเคลื่อนแบบสอดรับกับแนวทางการทำงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation : A.I.C) ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะมีครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

               เกษตรกรเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สำหรับมาตรการระยะกลาง และระยะยาว คงหนีไม่พ้นการแปรรูปทั้งในส่วนของการบริโภคเพื่อกินและเพื่อใช้ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ การสร้างมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและลดปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด โดยอาจมุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าที่ตอบรับกับเทรนด์ของผู้บริโภค เช่น เรื่องสุขภาพ ความงาม สังคมสูงอายุ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทางทีมจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์แปรรูปสินค้าเกษตรให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน หลังวิกฤติคลี่คลาย