วสท.ผนึก "อิตาเลียนไทย สร้าง 200 ตู้ความดันลบมอบรพ.สู้โควิด-19
วสท.ผนึก "อิตาเลียนไทย สร้าง 200 ตู้ความดันลบมอบรพ.สู้โควิด-19
วสท. ผนึก “อิตาเลียนไทย” เร่งสร้าง “ตู้ความดันลบ” จำนวน 200 ตู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ล่าสุดมอบตู้ 2 แบบให้โรงพยาบาลจุน จ.พะเยา เพื่อลดความเสี่ยงแพทย์-พยาบาล...รวมพลังฝ่าวิกฤติ COVID-19
นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมที่มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา ได้จัดตั้ง ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 เพื่อรวมพลังวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญนำองค์ความรู้มาสร้างสิ่งประดิษฐ์และการป้องกันบรรเทาภัยโควิด-19 ที่ในปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยกำลังขาดแคลนห้องความดันลบ และสร้างไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จึงได้พัฒนา “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” โดยมีแผนพัฒนาใน 3 รูปแบบจำนวน 200 ตู้เพื่อใช้เป็นห้องอเนกประสงค์บรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใช้กับกลุ่มเสี่ยง การกักตัว และใช้ในบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาวสท.ได้ส่งมอบตู้ความดันลบ 2 แบบแก่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และจะส่งมอบให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพพบกและโรงพยาบาลอื่นๆในลำดับต่อไป โดยคุณสมบัติตู้ดังกล่าวนี้ประหยัดและประกอบติดตั้งได้เร็วภายใน 15 นาที มุ่งป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลและลดความเสี่ยงของบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประชาชนผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
“วสท.ได้ทำต้นแบบมาตรฐานตู้ความดันลบ และคู่มือผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วย ข้อควรระวัง แบบมาตรฐาน วิธีการประกอบ วิธีใช้งาน วิธีการบำรุงรักษาและอื่นๆ โดยแบบมาตรฐานนี้หน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนสามารถนำไปผลิตใช้เองได้”
นายธเนศ กล่าวอีกว่าแนวคิดและประโยชน์การใช้งานตู้ความดันลบ ได้แก่ 1.เพื่อใช้เป็นห้องแยกความดันลบทั่วไปที่สามารถให้คนนั่งได้ 3 ถึง 4 คน หรือหนึ่งเตียงในสถานพยาบาล เคหะสถาน และอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ 2.เพื่อใช้ครอบเตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อทางอากาศ 3. เพื่อลดระยะห่างความปลอดภัยระหว่างเตียงผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าตรวจผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกันบุคคล 4.เสริมความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล 5.เพื่อใช้งานทั้งภายในอาคารและในที่ร่มภายนอกอาคาร 6. เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุภายในประเทศ และวัสดุที่เลือกใช้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย และ 7. เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับหน่วยงานราชการและเอกชนนำไปใช้ในการจัดซื้อต่อไป
ด้านนายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรม ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสถานที่ โดยมี 3 แบบดำเนินการ ระบบโครงสร้างตู้ความดันลบเป็นวัสดุภายในประเทศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซี, ข้องอ 90 องศา , ข้อต่อสามทาง , ข้อต่อท่อรูกันซึม , เกลียวเร่ง (Turnbuckle) , Clamp รัดสลิง , เกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน ตู้ความดันลบนี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลัก คือ ความสะอาด และความดันห้อง
ในส่วนความสะอาดของห้องจะมีการนำอากาศจากภายนอกห้องไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้อง โดยใช้พัดลมดูดอากาศที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง(ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคารในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาให้สูงอย่างน้อย 3.00 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งจะต้องไม่ให้อากาศที่เจือจางนี้สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้
ระบบท่อระบายอากาศทิ้งนี้หากไม่สามารถติดตั้งให้มีระยะห่างจากอาคาร 8.00 เมตร หรือทิ้งที่หลังคาสูง 3.00 เมตรได้ ก็สามารถดัดแปลงให้ใส่เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(HEPA) ทำการฆ่าเชื้อก่อนระบายทิ้งสู่บรรยากาศได้
สำหรับในส่วนความดันห้องจะรักษาระดับความดันลบภายในห้องให้น้อยกว่า 2.5 ปาสกาล(Pa) เทียบกับความดันอากาศบริเวณโดยรอบ ส่วนระดับอุณหภูมิอากาศภายนอกและภายในห้องให้แตกต่างกันไม่เกินบวกลบ 2 องศาเซลเซียส
สำหรับผลการทดสอบสมรรถนะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีดังนี้ 1.ความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศภายในห้องและภายนอกห้อง ก่อนเปิดและปิดพัดลม บวกลบไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ผลการตรวจวัด ผ่านการทดสอบโดยวัดอุณหภูมิภายนอกและภายในห้องวัดได้ 32.4 – 32.5 องศาเซลเซียสใกล้เคียงกัน 2.การตรวจวัดการรั่วของอากาศที่รอยต่อผนังห้อง ผ่านการทดสอบโดยค่าความเร็วลมอ่านได้ศูนย์ และควันธูปไม่ไหลเข้าห้อง 3. การตรวจวัดอัตราการไหลของอากาศเพื่อระบายอากาศภายในห้องไม่น้อยกว่า 12 ACH ผลการตรวจวัด ผ่านการทดสอบอ่านค่าได้ 147.02 ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับ 19 ACH 4. การตรวจสอบความดันลบของห้องไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล (Pa) อ่านค่าความดันลบภายในห้องได้ 8 ถึง 12 Pa
ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท) , รศ.อเนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษา วสท, นายบุญพงศ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้นภัย covid 9, วิศวกรอาสาและ ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบงานขั้นสุดท้ายในการผลิต “ตู้ความดันลบ รุ่น 3,2 และ 1 และทำพิธีส่งมอบตู้ความดันลบให้แก่โรงพยาบาลจุน จังหวัดพะเยา จำนวน 2 ตู้ และจะส่งมอบให้ทาง โรงพยาบาลปัตตานี 30 ตู้ในลำดับต่อไป
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า ตู้ความดันลบ( Negative Pressure cabinet ) ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำต้นแบบและส่งมอบให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ดำเนินการผลิต เป็นทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาด เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประชาชนผ่านพ้นวิกฤติ กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
สำหรับขั้นตอนการจัดทำห้องความดันลบ -"Negative Pressure Cabinet" มีดังต่อไปนี้คือ 1.ขั้นตอนการตัดชิ้นส่วนท่อ PVC เกรดไม่ลามไฟ สำหรับใช้ทำเป็นส่วนของโครงห้องตามความยาวและขนาดห้องในแต่ละรุ่นที่ต้องการผลิต โดยขนาดห้อง
✅(รุ่นที่1 ขนาดกว้าง 1.30ม ยาว 2.60ม สูง 2.20ม)
✅(รุ่นที่2 กว้าง 1.90ม ยาว 2.60ม สูง 2.20ม),
✅(รุ่นที่3 เป็นรุ่นที่มีห้อง Ante room กว้าง 1.90ม+1.20ม ยาว 2.60ม สูง 2.20ม )
2.ขั้นตอนประกอบชิ้นส่วนท่อ PVC ที่ตัดเตรียมไว้ ขึ้นเป็นโครงห้อง
3.ขั้นตอนเจาะติดตั้งห่วงและลวดสลิงสำหรับยึดโครงห้องให้แข็งแรง พร้อมทั้งติดสติ๊กเกอร์หมายเลขเพื่อบอกลำดับชิ้นส่วนและตำแหน่งการประกอบเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบครั้งต่อๆไป ในกรณีที่มีการรื้อประกอบใหม่
4.ติดตั้งชุดม่านพลาสติกสำหรับห้องความดันลบ พลาสติกที่ใช้นี้เป็นพลาสติก Food Grade
5.ตรวจสอบความแข็งแรง ความถูกต้องและความเรียบร้อยก่อนการบรรจุลงกล่อง
6.แยกสิ้นส่วนต่างๆ บรรจุลงกล่อง(ขนาดกว้าง 0.35ม ยาว 2.70ม สูง 0.35ม ) เพื่อส่งมอบให้แก่ภาคส่วนที่ต้องการใช้งานต่อไป
⭕️ประหยัดและสามารถประกอบติดตั้งได้ภายใน 15 นาที
⭕️ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาล
⭕️ลดความเสี่ยงของบุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน
⭕️โครงสร้างของตู้ความดันลบเป็นวัสดุภายในประเทศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน
⭕️ดูแลและบำรุงรักษาทำความสะอาดห้องได้ง่าย