ข่าว

ทนายรณรงค์ บุกร้องผู้ตรวจฯ สอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 เลือกปฏิบัติ

ทนายรณรงค์ บุกร้องผู้ตรวจฯ สอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 เลือกปฏิบัติ

15 เม.ย. 2563

ทนายรณรงค์ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และตรวจสอบระบบเอไอ ชุดข้อมูลของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ นำเข้าข้อมูลเป็นเท็จหรือไม่

 

                 วันที่ 15 เม.ย. 2563 ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เข้ายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 บาท ในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ของกระทรวงการคลัง ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติและทำข้อมูลเท็จที่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์หรือไม่ โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง

                 อ่านข่าว ต่อชีวิต "ป้าวรรณา" ผู้ใจบุญยื่นมือช่วย หลังโดนตัดสิทธิ์เงิน 5,000 ร่ำไห้ไม่มีจะกิน

 

 

 

                 โดยทนายรณรงค์ กล่าวว่า วันนี้พาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และไม่ได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการคลัง เพราะตกสำรวจ และไม่ทราบว่าจะได้รับการเยียวยาเมื่อไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพร้านเสริมสวย รวมทั้งหมด 5,126 รายชื่อ มายื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน และต้องการให้ตรวจสอบการดำเนินการของกระทรวงการคลังในการพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยา โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่

                 และจากการพิจารณาอนุมัติเงินโครงการเราไม่ทิ้งกัน โดยนำปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบเอไอ (AI) มาตรวจสอบสถานะของผู้ลงทะเบียนนั้น มีความคลาดเคลื่อนมาก และมีประชาชนไปลงทะเบียนแล้วปรากฎเป็นอาชีพที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงขอให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการทำงานของระบบเอไอ หากพบว่าชุดข้อมูลที่ป้อนให้กับระบบเอไอนั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือไม่ และขอให้ดำเนินคดีกับกระทรวงการคลังและข้าราชการ ตลอดจนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

 

 

ทนายรณรงค์ บุกร้องผู้ตรวจฯ สอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 เลือกปฏิบัติ

 

 

                 รวมถึงขอให้ตรวจสอบต้นทางหรือที่มาของชุดข้อมูลที่ป้อนให้กับระบบเอไอ ว่า มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเคยใช้ข้อมูลดังกล่าวไปเบิกงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ และข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จหรือมีการปลอมแปลงเอกสารและใช้ราชการหรือไม่ เพราะหากกระทรวงการคลังแถลงว่า ระบบเอไอไม่มีความคลาดเคลื่อน แต่เป็นความคลาดเคลื่อนที่มาจากแหล่งข้อมูลต้นทาง ซึ่งอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่

 

 

 

 

                 ทั้งนี้ ทนายรณรงค์ อยากให้ตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีที่ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งปิดประตูใส่ประชาชน จากการไปร้องเรียนที่กระทรวงเมื่อวานที่ผ่านมาว่า เป็นการกระทำที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง และเป็นข้าราชการไม่ควรปฏิบัติกับประชาชนในลักษณะนี้

                 ขณะที่ กุลิสรา พานิช นายกสมาคมช่างผมมืออาชีพแห่งประเทศไทย เผยว่า ผู้ประกอบการร้านทำผม ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่ 22 มีนาคม ที่ให้ดำเนินการปิดร้าน ซึ่งเมื่อไม่สามารถประกอบกิจการได้ ส่งผลให้ไม่มีค่ากิน ค่าอยู่ และทุกคนก็เฝ้ารอการเยียวยาของภาครัฐ แต่เมื่อข้อมูลการลงทะเบียนออกมาระบุว่ามีสถานะเป็นเกษตรกร และหลายคนก็รอกันไม่ไหวแล้ว จึงอยากให้เร่งการเยียวยาให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งทางสมาคมฯเองก็ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกว่าไม่ได้รับการเยียวยา และขณะนี้ก็ไม่มีเงินสำรองไว้ใช้จ่าย เพราะร้านต้องปิดกระทันหัน ทั้งนี้นอกจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลแล้ว ก็อยากจะให้ผู้ปล่อยให้เช่า ผ่อนผัน และช่วยเหลือในการไม่เก็บค่าเช่า สำหรับร้านที่ต้องเช่าสถานที่ในการเปิดให้บริการ

                 ด้าน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า จากการที่ปรากฎเป็นข่าวว่าประชาชนยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งต้องไปตรวจสอบการผิดพลาดขอฝระบบ ดังนั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงอยู่ระหว่างหาช่องทางในการเข้าไปดำเนินการเพื่อช่วยส่งผ่านข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประเด็นที่มาร้องเรียนวันนี้จะรับไปตรวจสอบ เพราะสิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ได้และได้รับการดูแล