หมอธีระวัฒน์ เผย ปัตตานี จะเป็นต้นแบบใช้ Rapid Test ค้นหาผู้ป่วยแฝง โควิด-19
จังหวัดปัตตานีพิจารณาใช้บทเรียนที่สำเร็จจากเกาหลีใต้ที่เร่งคัดกรองค้นหาผู้ป่วยที่แฝงอยู่จำนวนมาก ถึงแม้ระยะแรกจะทำให้พบจำนวนผู้ป่วย โควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราป่วย อัตราตายน้อย และควบคุมโรคได้ในที่สุด
18 เมษายน 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผย การแถลงข่าว Rapid Test 6,200 ราย เพื่อคัดกรองขั้นค้นหาผู้ป่วยแฝงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) และการร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ จังหวัดปัตตานี
อ่านข่าว - กักตัวอย่างน้อย 72 ครอบครัว "คนส่งพิซซ่า" ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19
ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีฯ อาจารย์นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ สมาคมศิษย์เก่าจุฬา นายแพทย์สมเกียรติ เชื้อเพชระโสภณ และ คุณฐิติ ตยางคานนท์ d-fusion
ได้อนุมัติบริจาค Rapid Test ชุดตรวจภูมิคุ้มกัน โควิด-19 อันเป็นนวัตกรรม พร้อมกับการเตรียมบุคลากรในพื้นที่ทุกระดับ (ภายใต้งบประมาณ 10,000,000 บาท) มาใช้ในการคัดกรองโรคโควิด-19 เป็น "ครั้งแรกของโลก"
จังหวัดปัตตานีพิจารณาใช้บทเรียนที่สำเร็จจากเกาหลีใต้ ที่เร่งคัดกรองค้นหาผู้ป่วยที่แฝงอยู่จำนวนมาก ถึงแม้ระยะแรกจะทำให้พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราป่วย อัตราตายน้อย และควบคุมโรคได้ในที่สุด
โดยจะดำเนินตรวจ 2 ขั้นตอน
1. เริ่มต้นด้วยการคัดกรองโดยนำ Rapid Test กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก 6,200 ราย หรือ 10,000 รายต่อประชากรล้านคน เทียบเท่าเกาหลีใต้ตรวจ
2. ตามด้วยนำผู้ได้ผลคัดกรองผลบวกมาตรวจยืนยันวินิจฉัยด้วย PCR ** วิธีนี้ สามารถค้นพบผู้ป่วยแฝงได้จำนวนมากและประหยัดค่าตรวจ 80% เมื่อเทียบกับใช้ PCR อย่างเดียวแบบเดิม
จังหวัดปัตตานีจะนำผู้ป่วยแฝงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ดูแลและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ จนสามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ถือเป็นการพลิกฟื้นคืนสู่สังคมสุขภาวะในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
โดยเริ่มจาก ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และในช่วงรอมฎอน ที่มีพี่น้องประชาชนที่กลับจากมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ภายในเดือนเมษายนนี้ แล้วจะขยายผลต่อตามแผนครอบคลุมทั้งจังหวัดปัตตานี
อาจารย์นายแพทย์วิพุธ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ปัตตานีจะเป็นต้นแบบการใช้ Rapid Test เพื่อคัดกรองค้นหาผู้ป่วยแฝง ความร่วมมือและการฟื้นคืนสู่สังคมแห่งความสุขจาก โควิด-19 แก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้