ข่าว

เปิดขั้นตอนคืนเงินประกันไฟฟ้า MEA ผ่านระบบออนไลน์ ทำได้ทุกกรณี

เปิดขั้นตอนคืนเงินประกันไฟฟ้า MEA ผ่านระบบออนไลน์ ทำได้ทุกกรณี

07 พ.ค. 2563

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) แจ้งประชาชนลดความเสี่ยงโควิด-19 เลี่ยงการติดต่อทุกที่ทำการไฟฟ้า แนะใช้วิธีลงทะเบียนออนไลน์ คืนเงินประกัน MEA ได้ทุกกรณี

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แจ้งประชาชนลดเสี่ยงโควิด-19 เลี่ยงการติดต่อทุกที่ทำการไฟฟ้า แนะใช้วิธีลงทะเบียนออนไลน์ คืนเงินประกันไฟฟ้า MEA ได้ทุกกรณี

 

 

 

6 พฤษภาคม 2563 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะโฆษก MEA กล่าวว่า ตามที่ MEA ได้เปิดให้ลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ และหมายเลขโทรศัพท์ 0 2-256-3333 ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา จนถึง ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563

 

 

 

 

 

มีผู้ได้รับเงินแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 4,500 ล้านบาท โดยล่าสุด พบว่ามีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากเดินทางมาติดต่อ ณ สถานที่ทำการต่างๆ ของ MEA เพื่อขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ MEA จึงขอเชิญชวนให้เจ้าของหลักประกันที่ติดปัญหาเรื่องการยื่นเอกสารในทุกกรณี ใช้วิธียื่นเอกสารเพิ่มเติมผ่านระบบออนไลน์ M easy ซึ่งสามารถอัปโหลดเอกสารหลักฐานตามที่ MEA กำหนดได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางมายังที่ทำการการไฟฟ้านครหลวงเขตต่างๆ

 

 

สำหรับช่องทางการลงทะเบียนเพิ่มเติม ผ่านระบบออนไลน์ http://measy.mea.or.th/ ผู้ลงทะเบียนจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานตามที่ MEA กำหนดดังต่อไปนี้ 

 

 

 

เปิดขั้นตอนคืนเงินประกันไฟฟ้า MEA ผ่านระบบออนไลน์ ทำได้ทุกกรณี

 

 

 

ประเภทบุคคลธรรมดา (กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล)

1. ใบเปลี่ยนชื่อตัว

2. ใบเปลี่ยนชื่อนามสกุล

3. ทะเบียนสมรส (เปลี่ยนนามสกุล)

4. ใบสำคัญการหย่า (เปลี่ยนนามสกุล)

 

 

 

กรณีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ทุพพลภาพ

1. สำเนาใบรับรองแพทย์ หรือสำเนาใบเสร็จโรงพยาบาล (หากไม่มี ใช้รูปถ่ายผู้ป่วย)

2. หนังสือมอบอำนาจ โดยที่ผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจลงนามรับรองในหนังสือมอบอำนาจ โดยระบุว่า "ดำเนินการขอคืนเงินประกันฯ และขอรับคืนเงินประกัน โดยโอนเข้าบัญชี ................ เข้าธนาคาร ................ เลขที่ ................ "

3. สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบ และผู้รับมอบ (ลงนามรับรอง)

4. สำเนาสมุดเงินฝาก (ลงนามรับรอง)

5. ใบเสร็จเงินประกัน (ถ้ามี) หรือหนังสือรับรองใบเสร็จสูญหาย หรือใบแจ้งความ

 

 

 

กรณีบุคคลต่างด้าว

1. หนังสือเดินทาง : Passport

2. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว : Certificate of Alien

 

 

 

กรณีเสียชีวิต

1. ใบมรณบัตร (ถ้ามี)

2. หนังสือให้ความยินยอม (ดาวน์โหลดจากขั้นตอนการแนบเอกสารออนไลน์) และเอกสารประกอบหนังสือให้ความยินยอม

          2.1 สำเนาบัตรประชาชนของทายาททุกคน

          2.2 สำเนาทะเบียนบ้านของทายาททุกคน

          2.3 สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรสของผู้เสียชีวิต)

3 สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้จัดการมรดก (ถ้ามี)

4. สำเนาคดีถึงที่สุด (ถ้ามี)
 

 

 

ประเภทนิติบุคคล กรณีที่ยังดำเนินการอยู่

1. หนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจ (ไม่เกิน 1 เดือน)

2. สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกคน

3. ใบเสร็จเงินประกัน (ถ้ามี)

4. หน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของนิติบุคคล (ธ.กรุงไทย / ธ.กรุงเทพ / ธ.กสิกรไทย / ธ.ไทยพาณิชย์)

5. หนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมที่ดิน (ไม่เกิน 1 เดือน) กรณีนิติบุคคลอาคารชุด/หมู่บ้านจัดสรร

6. รายงานการประชุมใหญ่ฯ กรณีนิติบุคคลอาคารชุด/หมู่บ้านจัดสรร (ถ้ามี)
 

 

 

กรณีอยู่ระหว่างชำระบัญชี

1. หนังสือรับรองบริษัทฯ อายุไม่เกิน 1 เดือน

2. สำเนาบัตรประชาชนผู้ชำระบัญชี

3. หน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของนิติบุคคล (ธ.กรุงไทย / ธ.กรุงเทพ / ธ.กสิกรไทย / ธ.ไทยพาณิชย์)

 

กรณีบริษัทฯ ร้าง จะต้องไปยื่นคำร้องที่ศาลแขวงเพื่อขอให้นิติบุคคลฯ กลับมามีสถานะเป็นบุคคล แล้วไปยื่นเรื่องที่สำนักพัฒนาธุรกิจเพื่อออกหนังสือรับรองบริษัทฯ ได้

 

 

 

กรณีเลิกกิจการเสร็จสิ้นการชำระบัญชี

1. หนังสือบริคณห์สนธิ (แผ่นที่มีรายชื่อหุ้นส่วนทุกคน)

2. สำเนาบัตรประชาชนหุ้นส่วนทุกคนรับรองสำเนาถูกต้อง หากมีผู้เสียชีวิตต้องแนบใบมรณบัตร

3. หนังสือมอบอำนาจที่ระบุชื่อผู้รับเงินว่าเป็นใคร โดยหุ้นส่วนทุกคนตามข้อ 1. ลงนาม

4. สำเนาบัตรประชาชนผู้รับเงิน

5. หน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของนิติบุคคล (ธ.กรุงไทย / ธ.กรุงเทพ / ธ.กสิกรไทย / ธ.ไทยพาณิชย์

 

กรณีบริษัทฯ ร้าง จะต้องไปยื่นคำร้องที่ศาลแขวงเพื่อขอให้นิติบุคคลฯ กลับมามีสถานะเป็นบุคคล แล้วไปยื่นเรื่องที่สำนักพัฒนาธุรกิจเพื่อออกหนังสือรับรองบริษัทฯ ได้
 

 

 

สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ต้องการแนบเอกสารเพิ่มเติม สามารถยื่นเอกสารผ่านได้ผ่านการคลิกฟังก์ชัน “ตรวจสอบเรื่อง” เพื่อแนบเอกสาร แต่สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนใหม่ สามารถคลิกได้ที่ฟังก์ชัน “ขอเพิ่มบัญชีแสดงสัญญา” ซึ่งจะสามารถแนบเอกสารได้หลังจากดำเนินการคลิกลงทะเบียนเสร็จสิ้น ซึ่งผู้ลงทะเบียนที่ MEA ตรวจสอบสิทธิ์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะมีกรอบระยะเวลาสำหรับการรับคืนเงินผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
 

 

1.พร้อมเพย์ ประมาณ 3 วันทำการ

2.โอนบัญชีธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 7 วันทำการ

3.โอนบัญชีธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 10 วันทำการ

4.เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา ประมาณ 3 วันทำการ
 

 

 

ทั้งนี้ MEA ยังคงดำเนินการเปิดให้ผู้ลงทะเบียนสามารถยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ ในการลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดปิดรับ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการรับบริการ พร้อมทั้งยังช่วยให้เกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีกด้วย

 

 

 

คู่มือลงทะเบียนคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าแบบแนบไฟล์เอกสาร (คลิก)