ข่าว

หลังโควิด  ไทยต้องการผู้นำยุคใหม่สู่โลกอนาคต

หลังโควิด ไทยต้องการผู้นำยุคใหม่สู่โลกอนาคต

10 พ.ค. 2563

พรรคสามัคคีไทย ชี้ New Normal อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหลังโควิด-19 ระบุ 3 Gig จะเป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกยุคอนาคต แนะ ประเทศต้องการผู้นำยุคใหม่หัวคิดก้าวหน้าเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลและการเป็น Smart City ของประเทศในอนาคต

          วันที่ 10 พ.ค.2563 นายอลงกรณ์ สังข์สิงห์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย ได้แสดงความเห็นผ่านเพจพรรคสามัคคีไทยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจากวิกฤติโควิด-19 เป็นจุดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวเราต่อสังคม และเศรษฐกิจอนาคตในรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่เหมือนเคย เพราะทุกวิกฤติย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ในบางสิ่งใหม่ที่ดีก็ควรนำมาใช้ ในบางสิ่งเดิมที่ไม่ดีก็ควรนำมาปรับปรุง “New Normal ย่อมไม่สมบูรณ์แบบเสมอไป” ตนจึงอยากแลกเปลี่ยนและชี้ให้เห็นถึง 3 สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในและหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ตนมักจะเรียกว่า “3 Gig” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สังคมจะต้องปรับตัว เพื่อเข้าสู่โลกยุคอนาคต ที่ New Normal อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอย่างที่หลายคนคิด

         1. Gig lifestyle - การรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาด “Social Distancing” จะไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน จากกรณีที่ผู้คนขึ้นรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า BTS ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้คนก็ต่างต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ จึงทำให้คำว่า “เวลาและความเร่งรีบ” เข้ามาทดแทนการเว้นระยะห่าง (Distancing) จนทำให้ความระมัดระวังที่ว่านั้นเจือจางลง หรือเราอาจจะเรียกว่าเป็น  “Gig lifestyle” ที่หมายถึงความบกพร่องในการตระหนักถึงการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามเมื่อความคืบหน้าของวัคซีนที่ยังไม่มีความชัดเจน การคุมเข้มมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อให้การเดินทางของผู้คนมีความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องกระทำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสรอบสองที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น

 

          2. Gig Workers - อัตราการจ้างงานจะลดลงในระยะสั้นเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยบริษัทส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยี การบริหารข้ามสายงาน และใช้บุคลากรชำนาญเฉพาะด้าน ให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้แรงงานในปัจจุบันที่มีความจำเป็นน้อยลง เราจึงต้องผลักดันให้บุคคลากรที่ตกงานเข้าสู่สองช่วงหลักๆคือ 1. ในระยะสั้นที่เรียกว่า “Gig Workers” ซึ่งเป็นการทำงานในรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้นที่สามารถเลือกปริมาณงานเองได้ ซึ่งจะมีบริษัททำหน้าที่เป็นตลาดเชื่อมต่อระหว่างผู้ทำงานและผู้ใช้บริการโดยตรงและ 2. ในส่วนของระยะยาวเราจำเป็นต้องเข้าสู่ “วิสาหกิจชุมชน” ซึ่งคือการสร้างรายได้จากภายในชุมชนที่มาจากภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรงที่จะก้าวไปสู่การเติบโตของภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่จะต่อยอดได้ในอนาคต

 

           3. Gig Economy - พฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้คนหันมาสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้นหลายเท่าตัว และหากสถานการณ์ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ผู้ประกอบการรายย่อยจำเป็นต้องปรับตัวโดยให้ระบบ Delivery Application เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามร้านค้าที่เข้าระบบจะถูกหักค่าธรรมเนียมประมาณ 25%-30% จากรายได้ ซึ่งไม่เหมาะกับร้านเล็กๆที่มีผลกำไรไม่มากนัก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ช่วง “Gig Economy” ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเดิม มาเป็นแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้คนสามารถเข้าไปทำงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้นและยังสามารถกำหนดระยะเวลาการทำงานในรูปแบบนี้ได้อีกด้วย

          นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า การเตรียมตัวรับมือกับความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) เป็นเรื่องที่ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ พนักงาน และประชาชนทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไปด้วยกัน และจำต้องเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมของสังคมที่ ณ ตอนนี้ได้เริ่มเข้าสู่ “เศรษฐกิจยุคดิจิทัล” ที่จะกลายเป็น Cashless Society ซึ่งคือการเป็นสังคมไร้เงินสด แต่สิ่งสำคัญจะต้องได้รับการผลักดันจากรัฐบาลและผู้นำประเทศยุคใหม่ ที่มีความคิดหัวก้าวหน้า เข้ามาบริหารจัดการโดยสร้างการเชื่อมโยงระหว่างทุกองค์กร 


          ภายใต้ระบบบริการสาธารณะ และ รูปแบบการชำระเงินที่สะดวกทันสมัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสร้าง ”บัตรเงินสดสาธารณะ” ในรูปแบบ Contactless ที่เชื่อมโยงสาธารณูปโภคหลายอย่างเข้าด้วยกันเช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า ร้านค้า และบริการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวเราจะไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางจากต่างชาติที่ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ “เศรษฐกิจยุคดิจิทัล” และรองรับการเป็น “Smart City” ของประเทศในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง