ข่าว

ถอดบทเรียนรักษาผู้ป่วยโควิด กว่า 200ชีวิต ชี้เข้ารับการรักษาเร็ว หายเร็ว

ถอดบทเรียนรักษาผู้ป่วยโควิด กว่า 200ชีวิต ชี้เข้ารับการรักษาเร็ว หายเร็ว

11 พ.ค. 2563

กรมการแพทย์ เผยประสบการณ์ การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน กว่า 200 ราย ชี้เข้ารับการรักษาเร็ว โอกาสหายเร็ว เตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้บริหารทรัพยากรร่วมกันให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมขยายเตียงและหอผู้ป่วยวิกฤตหากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

บ่ายวันนี้ (11 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตรวจคัดกรองตามเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนโรค ที่ผ่านมาได้ดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล ปัจจุบันยังนอนรักษาเพียง 12 ราย จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนเตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอยู่ถึง 2,263 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) 147 เตียง เป็นของรัฐ 72 เตียง เอกชน 75 เตียง สามารถขยายเพื่อรองรับการระบาดในระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนอย่างเข้มงวด โดยพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ต่อไปและเป็นที่น่ายินดีว่า ไม่พบบุคลากรติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยโควิด 19

ด้านผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาอยู่ที่ 69 ราย รักษาหาย 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.75 ทำให้ได้ประสบการณ์การรักษา โดยผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลราชวิถี อายุ 31 ปี เข้ามารับการรักษาเร็ว ได้รับยาฟาวิพิลาเวียร์ เพียง 3 วันพบว่าหายป่วย กรณีนี้สรุปได้ว่าอายุน้อยมารับการรักษาเร็วโอกาสหายสูง ตัวอย่างที่สอง เป็นผู้ป่วยชายอายุ 55 ปี ไม่มีโรคประจำตัว มีอาการไข้ถึง 13 วัน จึงมารักษา อีก 4 วันต่อมาเสียชีวิต ทำให้เห็นว่าอายุมากแม้ไม่มีโรคประจำตัวหากเข้ารับการรักษาช้าเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ส่วนตัวอย่างที่สามเป็นเพศหญิงอายุ 57 ปี ติดเชื้อจากบุตรสาว 4 วันแรกที่เข้าโรงพยาบาลไม่มีอาการ ในวันที่ 5 เริ่มมีไข้ ปอดอักเสบ ได้รับการรักษาเร็วด้วยยาฟาวิพิลาเวียร์ ต่อมาหายป่วย บทเรียนการรักษาโควิด 19 ทำให้เห็นว่า ยาฟาวิพิลาเวียร์ช่วยในการรักษาปอดอักเสบได้ และเมื่อมีอาการป่วยต้องรีบเข้ารับการรักษาจึงจะมีโอกาสหายสูง 

ด้านพญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมปอด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอกให้ความสำคัญการป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ จึงเริ่มต้นการแยกพื้นที่การตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด 19 การจัดหอพักผู้ป่วยความดันลบ โดยนำความรู้จากการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมาประยุกต์ใช้ ทำให้รับมือการรักษาได้เป็นอย่างดี