อีกมุม ปมดราม่าเรียนออนไลน์ สำเนียงอังกฤษไม่ดี ไม่ได้แปลว่าผิด
หัวหน้าภาควิชาบัณฑิตศึกษานานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา แสดงความคิดเห็นอีกมุม ปมดราม่าเรียนออนไลน์ ชี้ สำเนียงอังกฤษไม่ดี ไม่ได้แปลว่าผิด ชี้เราไม่สามารถถูกฝึกให้เป็นเจ้าของภาษาได้
#saveครูวัง ที่ประทุในโลกทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ที่เกิดขึ้นในวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งการเรียนออนไลน์ประถมของนักเรียนชั้น ป.6 เนื่องจากคุณครูท่านหนึ่งที่มาสอน แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยในเรื่องการออกเสียงของคุณครูท่านนี้ ที่ดูจะผิดเพี้ยนไปหมด ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าว : ดราม่าเรียนออนไลน์ วิชาภาษาอังกฤษ งานนี้ทำเอาเด็กๆ ถึงกับมึน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด ดร.เด่นชัย ปราบจันดี หัวหน้าภาควิชาบัณฑิตศึกษานานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นประเด็นดราม่าเรียนออนไลน์ อีกมุมหนึ่ง พร้อมกับวิจารณ์คอมเมนต์ที่เข้ามาตำหนิคุณครูท่านนี้ เป็นความคิดที่ทำให้สำเนียงที่หลากหลายถูกจัดในกลุ่มชายขอบ (marginalized) และเป็นหลักฐานชัดเจนว่า คุณติดกับดักห้วงความคิดของโลกจักรวรรดินิยม
โพสต์ดังกล่าวระบุว่า คุยกันเฉพาะเรื่องสำเนียง
วันนี้มีการถ่ายทอดการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคุณครูท่านหนึ่งมาสอนให้ดู คือ ท่านก็พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยนะ แต่ก็เข้าใจได้ ท่านใช้แกรมม่าก็ไม่ได้ถูกต้อง 100% นะ แต่ก็เข้าใจได้ หลายคนดูถูกสำเนียงท่าน บางคลิปถึงกับถอดรหัสเป็นคำภาษาคาราโอเกะเพื่อสะท้อนว่าท่านออกเสียงไม่ถูกต้องตามหลักเจ้าของภาษา (เพื่อสื่อเป็นนัยยะว่าเอามาเป็นตัวอย่างได้ไง) คอมเมนต์ต่างๆ เหล่านี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับการผลักสำเนียงที่หลากหลายให้อยู่ชายขอบ (marginalized) และการติดกับดักห้วงความคิดของโลกจักรวรรดินิยม
ในฐานะนักวิจัยหน้าใหม่ด้าน Goblal Englishes ที่ศึกษาเกี่ยวกับ การสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงความหลากหลายของภาษาอังกฤษ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยความถ่อมตน ดังนี้
1. สำเนียงที่หลากหลายถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ L2 users ที่เรียนภาษาอังกฤษจะได้รับอิทธิพลจากภาษาแม่อยู่แล้ว ต่อให้เราเรียนการออกเสียงจากเจ้าของภาษา เราก็มีสำเนียงไทยอยู่ดี ต่อให้เรียนกับเจ้าของภาษา ถ้าที่บ้านพูดภาษาไทย ก็จะมีสำเนียงไทยปนอยู่ พูดง่ายๆ คือ เราไม่สามารถถูกฝึกให้เป็นเจ้าของภาษาได้ ธรรมชาติของเราทำแบบนั้นได้ยาก
2. เรามีโอกาสที่จะพบเจอ L2 users ที่มีสำเนียงหลากหลายมากกว่าเจ้าของภาษาอยู่แล้ว เพราะจำนวน L2 users เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคนกลุ่มนี้เองที่บอกว่า สำเนียงเจ้าของภาษาฟังยากกว่า L2 users
3. ในการสื่อสารจริง การบรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารและความสามารถในการเจรจาต่อรองความหมาย สำคัญกว่า การมีสำเนียงเป๊ะและแกรมมาเป๊ะเหมือนเจ้าของภาษาด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จาก ถึงแม้ว่าเจ้าของภาษาจะสื่อสารกันเอง เขายังต้องเจรจาต่อรองความหมายอยู่ และงานวิจัยก็ระบุชัดว่า เจ้าของภาษาเองก็มีสำเนียงที่หลากหลายและไม่ได้สื่อสารผ่านแกรมม่าที่เป๊ะ
4. การมี “สำเนียงดี” เป็นเพียงวาทกรรมของโลกจักรวรรดินิยมที่ครอบงำความคิดของคนในสังคมมายาวนาน ด้วยสถานการณ์การใช้ภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราต้องปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้กับผู้เรียนของเราให้มีจิตใจเปิดกว้างต่อความหลากหลายของภาษาและให้เคารพสำเนียงที่หลากหลาย
ที่เขียนมายืดยาวคือไม่อยากให้ดูถูกสำเนียงของคุณครู ขอร้องให้หยุดว่าคุณครูนะฮะ สงสารท่าน หยุดครอบงำกันเอง เราควรปลดปล่อยการใช้ภาษาอังกฤษให้อิสระ ความหลากหลายของสำเนียงก็คือ ความสวยงามของภาษาอีกอย่างหนึ่ง #หยุดครอบงำกันเอง
ที่มาเฟซบุ๊ก : Denchai Prabjandee