"พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ไม่เห็นด้วย รบ.เสนอพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 วัน
"พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ไม่เห็นด้วย รัฐบาลเสนอพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 วัน ชี้ รัฐบาลควรแจงการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ โดยละเอียดเพื่อประโยชน์ประชาชน
วันที่ 20 พ.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางในการประชุมสภาฯ ที่ต้องพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) , พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปรึกษากันว่า ในแนวทางเรื่องการตรวจสอบการอภิปรายนั้น มีประเด็นที่จะต้องอภิปรายในเรื่องของสาธารณสุข การช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูด้านเศษฐกิจ
"การที่ออก พ.ร.ก ออกมาเห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือประชาชน แต่การที่ออกมาโดยไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายเลย ในส่วนนี้ก็จะต้องมีการสอบถาม ถึงการใช้จ่ายเงินอย่างละเอียด ส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ฝ่ายค้านก็มีความเห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นส่วนประกอบด้านเศรษฐกิจ แต่การที่แบงค์ชาติให้ธนาคารพาณิชย์ไปดำเนินการต่อนั้น อาจทำให้เกิดช่องว่างทำให้เกิดการทุจริตได้ ซึ่งจะต้องมีการสอบถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร "
นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การบริหารเม็ดเงินที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากมาย นายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาความเสียหายขึ้นในอนาคต เพราะการตรวจสอบดูแลเงิน มีเพียงกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาเพียง 5 คน ซึ่งอาจเกิดการทุจริตขึ้นได้ ด้านพรรคก้าวไกล จึงได้มีการเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อตรวจสอบดูแลการใช้งบประมาณในส่วนนี้
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึง พ.ร.ก.เงินกู้ ที่จะเข้าสภาเพื่อพิจารณาในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ว่า ในช่วงเวลานี้จะกลายเป็นอดีตที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เกิดช่องว่างทางสังคม เป็นอดีตที่คนต้องเลือกระหว่างจะซื้อข้าวหรือหน้ากากอนามัย และเงินกู้จำนวนมากจะต้องนำไปใช้ในอนาคตที่มีความเท่าเทียมกัน ที่ให้ความกับประชาชนเป็นใหญ่ ที่มีการจัดระบบสวัสดิการใหม่
"สำหรับปัญหาโควิด-19 ครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤติครั้งสำคัญที่เด็กในอนาคตจะมองกลับมา ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่า การกู้เงินเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยกรอบเวลาที่รัฐบาลให้มา 3 วัน ผมมองว่าไม่เหมาะสม เพราะกลไกของสภาจะต้องมีการถกเถียงหารือกันเสียก่อนเพื่อหาข้อสรุป พร้อมยืนยันว่าจำเป็นที่จะต้องมีกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณ ในการแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์โควิด เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณจำนวนนี้ เพราะความต้องการของพรรคก้าวไกล คือต้องการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน "
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อสรุปของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องการให้รัฐบาลแยกรายละเอียดของการใช้งบประมาณในแต่ละ พ.ร.ก. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสที่สุด ซึ่งการเปิดสภาครั้งนี้ตนก็ไม่เห็นด้วย ที่จะมีการอภิปรายเพียงแค่ 3 วัน ควรเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการชี้แจงของรัฐบาลว่าละเอียดมากน้อยแค่ไหน
พร้อมกันนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะรวบ พ.ร.ก. แต่ละฉบับไว้ในวาระเดียว อยากให้พิจารณาเป็นราย พ.ร.ก. เพราะแต่ละฉบับมีข้อพิจารณาที่แตกต่างกัน ส่วนการตรวจสอบ ควรให้พรรคการเมืองทุกพรรคได้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมในคณะกรรมการติดตามด้วย เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่ายและต้องเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เป็นอีกหนึ่งเสียง ที่เห็นร่วมในการไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะควบรวม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ไว้ในครั้งเดียว เพราะควรแยกพิจารณา พ.ร.ก. ทีละฉบับเพราะแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน
" ส่วนเรื่องเงินเยียวยา ต้องมีการสอบถามว่าทำไมรัฐบาลต้องกลั่นกรองให้เกิดความยุ่งยาก และล่าช้าเป็นอย่างมาก จนทำให้บางคนที่รอไม่ได้ต้องฆ่าตัวตาย รัฐบาลต้องเข้าใจว่าความเดือดร้อนขณะนี้เกิดการวิกฤตการ ไม่ใช่การเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตามปกติ และเชื่อว่า เมื่อมีการพิจารณาเงินกู้สิ้นสุดลง ก็ยังมีคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออยู่ดี ไม่ใช่ว่าเงินไม่มากพอแต่ผิดที่หลักคิดตั้งแต่แรก ส่วนเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ หน่วยงานรัฐ ไม่ควรคิดถึงเงินทอน แต่ควรจะทำโดยให้ประชาชนมีส่วนในการคิดและได้ลงมือทำเอง "