"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ "กกพ."
"ศรีสุวรรณ" โวยจ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ "กกพ."ปล่อยให้มีไฟฟ้าล้นประเทศฉกเงินจากกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 2 แสนล้าน
26 พ.ค.2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ศึกษาต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงในแต่ละเดือน หรือทุกรอบบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้านั้น มีต้นเหตุหลักมาจากการคำนวนและการกำหนดการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเรียกว่าแผนการใช้ไฟฟ้า (PDP 2015 และ PDP 2018) โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นกลไกเครื่องมือนั่นเอง
ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศมีประมาณ 28,636 เมกกะวัต์/วันเท่านั้น แต่กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลาโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของเอกชนและซื้อไฟฟ้ามาจากต่างประเทศสะสมมากถึง 45,595 เมกกะวัตต์ (ไม่รวมโรงไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการผลิตเอง ใช้เอง และไฟฟ้าบนหลังคาเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งหมดอาจมีมากกว่า 55,000 เมกกะวัตต์) โดยที่เป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ผลิตได้เพียง 15,424 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 33.83 % เท่านั้น ส่วนเอกชนมีปริมาณการผลิตมากถึง 30,171 เมกะวัตต์ หรือ 66.17 % ซึ่งทำให้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ มีมากถึง 16,595 เมกกะวัตต์ หรือ 59% เกินกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ภาครัฐต้องจ่ายให้เอกชนทุกหน่วยที่ผลิตได้ตามเงื่อนไขสัญญาที่ผูกมัดกันมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าหรือไม่รัฐก็จ้องจ่ายให้เอกชนตลอดเวลา หรือเรียกว่าค่าพร้อมจ่ายนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเงินที่ภาครัฐจ่ายก็คือเงินที่ซ่อนเก็บมาจากบิลค่าไฟฟ้าทุกครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ดังนั้น กกพ.และกระทรวงพลังงาน จะต้องรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดย 1)ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์ 6,149 MW เช่น โรงไฟฟ้า IPP ใหม่(ภาคตะวันตก) 1,400 MW (ทั้งของ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากลาว และของเอกชนทุกโครงการ) โรงไฟฟ้าเชิงนโยบายหรือโรงไฟฟ้าชุมชน(โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ โรงไฟฟ้าขยะภาคนโยบาย โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก)รวม 2,099 MW โรงไฟฟ้า กฟผ.(ปี 2568-2569) 1,950 MW โรงไฟฟ้าต่างประเทศพลังน้ำ(ลาว) 700 MW 2)เลื่อนการซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาแล้วไปอีก 2-3 ปี(เดิมจ่ายไฟปี 2564-2569) เช่น โรงไฟฟ้า SPP รวม 974.4 MW 3)ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า(เดิมจ่ายไฟปี 2570-2571) รวม 5,588 MW
การผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทั้งๆ ที่มีไฟฟ้าล้นประเทศแล้วในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามสัญญา กลับเป็นการผลักภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกมิเตอร์ ทุกหม้อแปลง ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ โดยไม่เคยพูดความจริงกับประชาชน
เพื่อระงับปัญหาดังกล่าวสมาคมฯจำต้องนำความไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้สอบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้สั่ง ยกเลิก เลื่อน หรือชะลอ การสร้างและซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเสีย โดยจะไปยื่นเรื่องในวันพุธที่ 27 พ.ค.63 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ อาคาร B ห้อง 903 นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด