"หมอเอก" เสนอปรับเพิ่มงบด้านสาธารณสุขเป็น1แสนล้าน รับมือพัฒนาวัคซีน
"หมอเอก" พรรคก้าวไกล เสนอปรับวงเงินสาธารณสุขจาก 45,000 ล้านบาท เป็น 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีน พร้อมสนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้เงิน
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล บอกว่า การดำเนินการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสนั้น จะตั้งการ์ดอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราจะตั้งการ์ดอย่างเดียวรอให้โดนถลุงไปจนถึงยกที่ 12 แล้วหวังจะชนะด้วยวัคซีน เราอาจจะแพ้จนวันสุดท้ายก็ได้ วันนี้ตนจึงขออภิปรายงบ 45,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในส่วนของสาธารณสุข ที่เทียบเท่ากับงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 4 ปี ซึ่งดูเหมือนจะเยอะ แต่เมื่อเทียบกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียง 4.5% และเมื่อไปดูรายละเอียดใน พ.ร.ก.ปรากฎว่ามีเพียง 5 บรรทัด เขียนไว้ว่าจะนำไปใช้ใน 5 ส่วน คือ ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย ค่าวัคซีน ซึ่งวัคซีนถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อยๆของงบประมาณที่เตรียมไว้ และที่สำคัญคือคณะกรรมการกลั่นกรองไม่มีคนที่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขอยู่ในนั้นเลย และคณะกรรมการกลั่นกรองไม่มีตัวแทนที่มาจากประชาชนมีส่วนร่วม นี่เป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งในประวัติศาสต์ของประเทศ ทำไมไม่ให้ประชาชนและผู้แทนของประชาชนมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ นายเอกภพ บอกว่า จากการที่ประเทศไทยต้องอยู่กับมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีประชาชนจำนวนมากกำลังลำบาก เราจะเห็นจากภาพคนเข้าแถวรับแจกอาหาร เห็นภาพแม่ที่มีลูกเล็กๆไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน คำถามที่ทุกคนถาม คือเราจะอยู่กับเหตุการณ์แบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ซึ่งคำตอบของโรคระบาดจะสิ้นสุดเมื่อมีภูมิต้านทาน สำหรับโคโรนาไวรัสต้องมีภูมิต้านทาน 60-80 % ของประชากร ดังนั้นเส้นชัยจึงมี 2 อย่างคือ วัคซีน และการมีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งการทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่เราไม่สามารถทำให้คนติดเชื้อพร้อมกันทีละจำนวนมากๆได้ เพราะโรงพยาบาลจะรับมือไม่ไหว วิธีการที่จะทำได้คือค่อยๆทำให้มีผู้ติดเชื้อซึมไปเรื่อยๆและหากต้องการใช้วิธีนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ส่วนวัคซีนนั้น ระยะเวลาที่เร็วที่สุด ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าถึงจะมีวัคซีนมาใช้ได้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ นายเอกภพ ยังกล่าวถึงการรับมือกับการล็อคดาวน์หรือการปิดเมือง วัตถุประสงค์ของการล็อคดาวน์คือให้คนไข้ไม่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขจะรับมือได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้คนที่อยู่ในภาวะการล็อคดาวน์ต้องอดตายไปด้วย ดังนั้นการปิดเมืองนานๆเพื่อรอวัคซีนที่เร็วที่สุดในอีก1ปี อาจจะทำให้คนอดตายกันหมด ตนจึงขอเสนอว่าการปิดเมืองควรจะต้องมาพร้อมกับการเพิ่มศักยภาพของสาธารณสุข เพื่อรับมือกับจำนวนคนไข้ที่อาจจะเพิ่มขึ้น และต้องวางแผนว่ากิจกรรมทางธุรกิจต้องเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และเมื่อมีการระบาดเพิ่มขึ้นก็มีความสารถที่จะปิดใหม่อีกครั้งนึง นี่คือการวางแผนอย่างมีกลยุทธ์
นายเอกภพ เสนอว่าเราควรมีคนมาช่วยรัฐบาลคิด เราควรมีกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามารนำเงินก้อนนี้ไปใช้ เมื่อความหวังว่าการสิ้นสุดของโคโรนาไวรัสคือวัคซีน คาดการณ์ราคาวัคซีน 300-1,000 บาทต่อเข็ม แสดงว่าหากต้องการให้มีภูมิต้านทาน 60-80% อาจจะต้องใช้งบประมาณขั้นต่ำ 12,000-67,000 ล้านบาทเพื่อวัคซีนในการหยุดการระบาด ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่สามารถผลิตวัคซีนได้มี 2 หน่วยงาน คือ สถานเสาวภา และองค์การเภสัชกรรม แต่มีข้อสังเกตว่าหน่วยงานทั้งสองไม่เคยมีการผลิตวัคซีนชนิดใหม่ๆได้เลย และไม่เคยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้ครั้งละมากๆ มาก่อน ดังนั้นหากเราไม่ต้องการรอคิวนานๆจากต่างประเทศ หากต้องการเป็นผู้นำ สิ่งที่ต้องทำคือการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนและความสามารถในการผลิตของไทยด้วย การผลิตวัคซีนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวยืนยันอีกครั้งว่าวัคซีนที่เราผลิตออกมาจะได้รับถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม นายเอกภพบอกว่า ในฐานะที่ตนเป็นหมอคนหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ยินดีที่จะรับรักษาคนไข้ทุกราย จะยินยอมให้มีการเปิดเศรษฐกิจให้คนไม่อดตาย แต่สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำคือสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย อย่าปล่อยให้เขาต้องใช้หน้ากากอนามัยอย่างจำกัดคนละ1ชิ้นต่อคนต่อวันอีกต่อไป อย่าปล่อยให้เขาต้องใส่ชุด PPE 1 คนต่อวันโดยไม่สามารถถอดไปเข้าห้องน้ำได้โดยกลัวจะเปลืองชุด อย่าปล่อยให้ต้องวิ่งหาคนมาบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์เอง อย่าปล่อยให้ อสม.หาหน้ากากผ้าและเจลแอลกอฮอล์มาใช้เอง รัฐบาลไม่ควรฉลองชัยชนะบนหยาดเหงื่อของบุคลากรทางการแพทย์และน้ำตาของประชาชน อย่าปล่อยให้เขาต้องสู้อย่างเดียวดาย และด้วยเหตุผลเหล่านี้ พรรคก้าวไกลขอเสนอให้มีการปรับวงเงินกู้ที่ใช้ในระบบสาธารณสุขจาก 45,000 ล้านบาท ให้เป็น 100,000 ล้านบาท โดยเตรียมไว้ใช้กับวัคซีน 60,000 ล้านบาท และ 40,000 ล้านบาทเอาไว้ใช้พัฒนาศักยภาพและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ต้องการให้การต่อสู้กับโรคระบาดเป็นการต่อสู้ที่ทุกคนมาร่วมมือกัน เป็นการต่อสู้ที่เมื่อเราประกาศชัยชนะแล้วเป็นชัยชนะของทุกคน ไม่ใช่ชัยชนะบนความยากลำบากของประชาชน ไม่ใช่ชัยชนะบนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจและประชาชน ไม่อยากให้อยู่บนพื้นฐานของหนี้ก้อนใหญ่ที่คนรุ่นต่อๆไปต้องมาชดใช้แทนพวกเรา