"ปธ.สส.พปชร." ค้านตั้ง "กมธ.วิสามัญ" สอบ"งบโควิด" ชี้ซ้ำซ้อน
"ปธ.สส.พปชร." ค้านตั้ง "กมธ.วิสามัญ" สอบ"งบโควิด" ชี้ซ้ำซ้อน กมธ.สามัญ 35 คณะ แถมสิ้นเปลืองเวลา -เบี้ยประชุม ทั้งที่อยู่ในสายตา สตง. และป.ป.ช และรายงานรัฐสภา พร้อมย้ำมาตราฐานเข้มกว่าพรก.เงินกู้ยุคสมัย "อภิสิทธิ์ - ยิ่งลักษณ์"
30 พ.ค.2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และ ประธาน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้าน และ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาตรวจสอบการใช้เงินกู้1.9 ล้านล้านบาท ว่า
ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ดังกล่าว เพราะมีหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือพิจารณาและกลั่นกรองอยู่แล้ว อาทิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ร่วมทั้งในระดับพื้นที่จะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และ กลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) กลั่นกรอง ก่อนเสนอให้ ครม.เป็นผู้อนุมัติโครงการตามที่เสนอมาเท่านั้น โดยนักการเมืองไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
อ่าข่าว... "ก้าวไกล" ยื่นญัตติด่วนตั้ง กมธ. ตรวจสอบใช้งบประมาณแก้ปัญหา"โควิด-19 "
ขณะที่สภาฯ ก็มีกมธ.สามัญฯ จำนวน 35 คณะ ซึ่งสามารถทำหน้าที่และสามารถตรวจสอบพ.ร.ก.กู้เงิน1.9 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 ฉบับ พวกเราที่เป็น ส.ส ทุกคน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ในฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องมั่นใจในระบบราชการที่เข้ามาดูแลงบประมาณตัวนี้ จึงไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ให้ขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลาการทำงานกับทุกฝ่าย และรวมทั้งเสียงบประมาณของแผ่นดิน เกี่ยวกับเบี้ยประชุมอีกด้วย
ประธานส.ส.พปชร. กล่าวว่า ในส่วนที่ฝ่ายค้านคิดและเป็นข้อกังวลในการใช้งบประมาณเกรงว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น หรือใช้งบประมาณไปไม่ตรงวัตถุประสงค์นั้น ท่านต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยนั้นก็มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมตรวจสอบ ยิ่งโดยเฉพาะ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านบาทถือว่า มีกรอบดำเนินการที่รัดกุมโดยใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาบังคับใช้ กำกับติดตาม การเบิกจ่ายเงินกู้ และ ต้องมีการประเมินโครการต่างๆ นำเสนอต่อ ครม.ทุก 3 เดือน
ส่วนการกำกับติดตามเงินกู้และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ มาตราการต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อและมั่นใจว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้นได้คิดและวางแผนมาตราการต่างๆ ในการบริหารจัดการไว้แล้ว ซึ่งมีการรายงานต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานตรวจสอบ หรือ มีการประเมิน KPI สูงกว่าเมื่อเทียบกับ พ.ร.ก.เงินกู้ในอดีตคือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งในปี2552 และพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารน้ำ ปี2555