นายกฯ ไฟเขียวหลักการแผนฟื้นฟู ขสมก.
นายกรัฐมนตรีแนะแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ ให้ถือประชาชนเป็นใหญ่ ที่ประชุม คนร. อนุมัติหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.
8 มิ.ย. 63 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 3/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือด้วย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายละเอียดเพื่อให้สามารถเดินแผนฟื้นฟูให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทำให้ ขสมก. สามารถฟื้นกลับมามีกำไรและเป็นองค์กรที่น่าภาคภูมิใจได้สำเร็จ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมีกรอบการดำเนินการ ครอบคลุมทั้งการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ โดยปรับรูปแบบให้เป็นสินทรัพย์เอกชน ลดภาพต้นทุนในการดูแล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือ เป็นต้น มีการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจโดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์คาดหวังว่า ในระยะยาวรัฐบาลจะไม่ต้องรับภาระหนี้ของขสมก. ลดปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ขสมก. สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน องค์การสามารถเลี้ยงของตนเองได้ พนักงานมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานและเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแผนฟื้นฟูและการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงแนวทางของรัฐบาลในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยให้ยึดหลักการสำคัญ ได้แก่ มองประชาชนเป็นหลัก ลดภาระและสร้างเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการ สามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินได้โดยไม่กระทบหลักการงบประมาณ องค์การมีความสามารถในการชำระหนี้ เพิ่มความคล่องในการการจราจร เชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้ง รถ ราง เรือ สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศ เช่น การต่อรถ เป็นต้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมดูแลลูกจ้าง พนักงาน และท้ายที่สุด สินทรัพย์ที่มีมูลค่าจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุมถึงแนวทางทั้งหมดนี้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพขององค์กรและบุคลากร ความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกการดำเนินการจะย้อนกลับไปสู่ประชาชน ที่จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน