ข่าว

เสวนา"อุ้มหาย..แล้วไง?" ชี้รัฐบาลไม่ใส่ใจ"วันเฉลิม"ถูกอุ้ม

เสวนา"อุ้มหาย..แล้วไง?" ชี้รัฐบาลไม่ใส่ใจ"วันเฉลิม"ถูกอุ้ม

13 มิ.ย. 2563

เสวนา"อุ้มหาย..แล้วไง?" ชี้ รัฐบาลไม่ใส่ใจ"วันเฉลิม"ถูกอุ้ม แนะอย่ามองเป็นเรื่องการเมืองแต่เป็นสิทธิมนุษยชน  ยัน"วันเฉลิม" เป็นผู้ลี้ภัยแม้ไร้สถานะ 

วันที่ 13 มิ.ย.ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน14 ตุลา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ(คปอ.)จัดงานเสวนา"อุ้มหาย แล้วไง?" ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีเกิดกระแสข่าวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ประเทศกัมพูชา หายตัว

 โดยมีผู้ร่วมเสวนา..พิธีกร-นักเขียน-นักทำสารคดี นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล,ผู้สื่อข่าวนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย, นักร้อง-นักแสดง นายพชร ธรรมมล และประธานสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

เริ่มต้นที่นายวรรณสิงห์ มองว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจต่อการหายตัวไปของคนไทยคนหนึ่งในประเทศกัมพูชา ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยในการสร้างความโกรธแค้นของคนในสังคมเพราะเป็นเหมือนถึงทางตัน พร้อมอยากให้ทุกคนมองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องมนุษยธรรม เพราะนายวันเฉลิมคือคนไทยคนหนึ่ง อย่ามองว่า นายวันเฉลิม อยู่การเมืองฝ่ายไหน เกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดใด อีกทั้งปัญหาการสูญหายของบุคคลในประเทศ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ทั้งที่ไทยเข้าร่วมในอนุสัญญาระหว่างประเทศมาแล้ว  

อย่างไรก็ตามตนมองว่าเรื่องนี้ ดารา คนมีชื่อเสียง แสดงความเห็นทางการเมืองที่สร้างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการเมือง แต่สามารถพูดเรื่องสังคมส่วนรวมด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือการกระทำของตัวเองที่ยังคงย้อนวนมาอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นแรงปะทะเกิดขึ้นด้วย

ส่วนกรณีที่มีการออกมาเปิดเผยจากกระทรวงการต่างประเทศว่า นายวันเฉลิม ไม่ถือเป็นผู้ลี้ภัย เพราะไม่มีสถานะรับรองนั้น นายพชร ธรรมมล ศิลปินนักร้อง มองว่าการลี้ภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยของเหตุผลว่าเหตุใด

ขณะที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย มองว่าการอุ้มหายเป็นอาชญากรรมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และไม่ควรมีใครต้องลี้ภัยออกจากประเทศของตัวเองเพียงเพราะการแสดงความเห็นทางการเมือง เพื่อหลีกหนีจากความหวาดกลัวการถูกคุกคาม ส่วนตัวในฐานะผู้ทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชนพบว่าคนไทยเข้าใจปัญหาผู้ลี้ภัยมากขึ้น ทั้งผู้ลี้ภัยภายในประเทศ และผู้ลี้ภัยนอกประเทศ ซึ่งการลี้ภัยทางการเมืองอยากให้คนเข้าใจว่าแม้จะไม่ได้สถานะรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศแต่ก็ถือเป็นผู้ลี้ภัย ส่วนการขอสถานะรับรองลี้ภัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีกระบวนการขั้นตอน ไม่ใช่มองแค่ว่าเป็นผู้หลบหนีคดีจึงไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆที่ในด้านสิทธิมนุษยชนย้ำว่าไม่ควรมีใครต้องลี้ภัย หรือถูกอุ้มหาย และหากเขาทำผิดจริงก็ควรมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

ส่วนการนำเสนอข่าวในฐานะนักข่าวที่ต้องนำเสนอเรื่องนี้ ได้หาข้อเท็จจริงประสานกับเพื่อนนักข่าวที่กัมพูชา ไปพูดคุยกับในเหตุการณ์การอุ้มหายนายวันเฉลิม จากคลิปภาพที่เกิดขึ้นซึ่งมีการยืนยันว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นจริง และได้นำเสนอข่าวนี้ไปตามข้อเท็จจริงเพราะถือเป็นเรื่องของจรรยาบรรณสื่อมวลชน แต่ส่วนตัวยอมรับว่าการนำเสนอข่าวลักษณะนี้มีข้อจำกัด แต่ในปัจจุบันเมื่อมีช่องทางออนไลน์ ก็สามารถนำเสนอได้มากขึ้น

สำหรับบทบาทในภาครัฐเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่า การมีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ปัญหาของประชาชนถูกหยิบยกมาพูดในสภาฯมากขึ้นทำให้เห็นบทบาทภาคการเมืองและภาครัฐมากขึ้นรวมถึงการพูดถึงในสาธารณะทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของกลุ่มผู้มีอำนาจ ประกอบกับการนำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการของสภาฯ  ทำให้รัฐมีการตอบสนองเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกระบวนการทางด้านการทูต รวมถึงกลไกต่างๆ ไม่ใช่การเพิกเฉยอย่างในอดีต  

อย่างไรก็ตามตนมองว่าความพยายามดิสเครดิตนายวันเฉลิม ที่ถูกอุ้มหายทั้งเรื่องของประเด็นการปลูกกัญชาเป็นกระบวนการทำให้เขาเป็นคนด้อยค่าเพื่อให้คนในสังคมลืมคนเหล่านี้ ทำให้เขาหายไปทั้งตัวตนและความเป็นคนในสังคม โดยการให้สังคมรู้จักเขาในมุมที่ไม่ดี

ด้านนางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า การออกมาคิดแฮชแท็ก Save วันเฉลิม หรือการผูกโบว์ขาว ไม่ได้เป็นกิจกรรมเลือกข้างทางการเมือง แต่เป็นความพยายามส่งเสียงแทนนายวันเฉลิม ให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานในสังคม และเรื่องนี้ยอมรับว่าในมุมของนักศึกษา ด้วยกันรู้สึกโกรธ เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านๆมามันสะสม ประกอบกับ ท่าทีของผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ทั้ง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไม่เหมาะสม เหมือนมองว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่คน มีความพยายามใช้กฎหมายมาสกัดกั้นการเรียกร้องให้นายวันเฉลิม ทำให้ไม่เห็นสปิริตการเป็นผู้นำจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นผู้นำที่ไม่เห็นหัวประชาชน