ข่าว

ขนาดเรียนยังลอกงานวิจัย ไปทำงานจะไม่ทุจริตได้อย่างไร

ขนาดเรียนยังลอกงานวิจัย ไปทำงานจะไม่ทุจริตได้อย่างไร

17 มิ.ย. 2563

ขนาดเรียนยังลอกงานวิจัย ไปทำงานจะไม่ทุจริตได้อย่างไร รวมพลังอุดมศึกษาไทย "นับหนึ่ง" หยุดลอกผลงานวิชาการ

จากที่มีการสัมมนาออนไลน์ที่น่าสนใจเพื่อเปิดโครงการ "มหาวิทยาลัยในประเทศไทยรวมพลังสร้างบัณฑิตด้วยความสุจริตทางวิชาการ" โดยมีสถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งร่วมกับมหาวิทยาลัยจอร์เจียแห่งสหรัฐอเมริกา ผลักดันแคมเปญรณรงค์และอบรม เพื่อหวังหยุดภาพพจน์ฉาว "เมืองแห่งการลอกวิทยานิพนธ์และผลงานวิชาการ" ลุยสร้างจิตสำนึกจากภายใน ลดปัญหาคอร์รัปชั่นระดับชาติ

 

ปัญหาการลอกผลงานวิชาการทั้งในระดับโรงเรียนมัธยมและอุดมศึกษาในบ้านเราถือว่าร้ายแรงอย่างมาก และเป็นดั่งมะเร็งร้ายกัดกร่อนความก้าวหน้าของวงการการศึกษาไทย ถึงขั้นที่ฝรั่งยังเขียนบทความแฉ เสิร์ชกูเกิ้ลปุ๊บก็เจอปั๊บ เป็นที่อับอายไปทั่วโลก

 

ขนาดเรียนยังลอกงานวิจัย ไปทำงานจะไม่ทุจริตได้อย่างไร

ศ.ดร.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า ปัญหานี้ร้ายแรงอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาปริญญาโท ก็ยังมีขบวนการรับจ้างทำ ลูกศิษย์ที่ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าว่า พอเข้าไปเรียนหลักสูตร MBA รุ่นพี่ก็มาบอกทันทีให้ตีสนิทกับคนนั้นคนนี้เอาไว้ เพราะเขียนวิทยานิพนธ์เก่งมาก ราคาอาจจะแพงหน่อย แต่ผ่านแน่นอน ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาจนอาจเรียกได้ว่าเป็น norm หรือวิถีปกติของนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยไปแล้ว

 

และสิ่งที่เกิดตามมาจากปัญหานี้ก็คือ เด็กและเยาวชนที่ลอกงานวิจัย เมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ไปทำงานตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะมีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉล หรือรับเงินทอน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา

 

คุณหมอวันชัย เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเคยร่วมงานกับมหาวิทยาลัยจอร์เจีย และทราบว่ามหาวิทยาลัยนี้มีกระบวนการที่เรียกว่า Academic Honesty คือส่งเสริมให้นิสิตที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้มี Academic Honor Code  หรือ "เกณฑ์เกียรติยศ" โดยผู้ที่เข้าเรียนจะต้องปฏิญาณว่าจะไม่ลอกงานวิจัย ไม่ลอกผลงานวิชาการ ไม่ทุจริตในการสอบ ทำให้เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิใจ และเมื่อคนเหล่านี้ออกไปทำงาน ก็ไม่เคยมีข่าวว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตเลยเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว จึงถือเป็นการสร้างจิตสำนึกจากภายในที่น่าสนใจ

 

ที่สำคัญกระบวนการนี้ไม่ได้มีสภาพบังคับ แต่นักศึกษาจะทำด้วยความเต็มใจ และเมื่อนักศึกษาคนใดมีปัญหา หรือถูกจับได้ว่ามีการลอกงานวิชาการ ก็จะมีกระบวนการที่เรียกว่า Facilitated Discussion หรือ "อารยะสนทนา" มีตัวกลางเข้ามาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่โต้เถียงจับผิดกันเพื่อหวังผลแพ้ชนะ หรือมุ่งแต่จะลงโทษเพียงอย่างเดียว เป้าหมายคือไม่ให้นักศึกษาต้องหมดอนาคต แต่เน้นการให้โอกาส และแก้ไขความผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำอีก

 

จากแนวคิดดีๆ เช่นนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "มหาวิทยาลัยในประเทศไทยรวมพลังสร้างบัณฑิตด้วยความสุจริตทางวิชาการ สู่มาตรฐานใหม่ในวิชาชีพ" โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เปิดเวทีคิกออฟ ซึ่งมีอธิการบดีจาก 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยพิธีเปิดโครงการจะมีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล จังหวัดขอนแก่น และจะมีการปาฐกถาพิเศษจากโปรเฟซเซอร์มหาวิทยาลัยจอร์เจีย รวมทั้งเปิดอบรมนักศึกษาและบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 140 คนทันทีด้วย

 

คุณหมอวันชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างจิตสำนึกไม่โกง ไม่ทุจริต ซึ่งถือเป็นกระบวนการป้องกันการโกงจากภายใน ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันปัญหาทุจริตได้จากต้นตอ