ข่าว

ส.ส.ก้าวไกล  อภิปรายซัดกองทัพควรตัดงบฯช่วยแก้โควิด-19

ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายซัดกองทัพควรตัดงบฯช่วยแก้โควิด-19

17 มิ.ย. 2563

"พิจารณ์" ส.ส.ก้าวไกล อัด กระทรวงกลาโหม ควรเสียสละตัดงบประมาณช่วยแก้โควิด-19 มากกว่านี้ ซัด กองทัพบกตั้งงบจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แต่ซื้อไม่ทัน ต้องนำไปซื้อเครื่องแต่งกายแทน แนะกองทัพบกดูตัวอย่างจากกองทัพอากาศ

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ วาระที่ 2 โดยบอกว่าเมื่อดูวงเงินที่กำลังจะโอนเข้าสู่งบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน จำนวน 88,000กว่าล้านบาท มีเงินจำนวน 53,000 ล้านบาทนั้นเป็นการโอนจากหน่วยงานทั่วไป ส่วนอีก 35,000ล้านบาทนั้นเป็นเงินที่รัฐบาลต้องกันเอาไว้เพื่อชำระหนี้ของภาครัฐ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าเรากำลังมีค่าเสียโอกาส แทนที่เราจะสามารถโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆได้มากกว่านี้ เพื่อที่จะได้ไม่จำเป็นที่จะต้องชำระค่าเสียโอกาสหรือดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงิน 35,000 ล้านบาท และอีกประเด็นที่เป็นปัญหาที่ได้ยินจากเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกันมาตลอดทั้งวัน คือการโอนงบประมาณจากหน่วยงานหรือจากโครงการที่ความจริงแล้วไม่ควรจะโอน เพราะเป็นผลประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงคมนาคม ที่มีอยู่หลากหลายโครงการ และเพื่อนสมาชิกได้ให้ความเห็น ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกลับกัน กลับมีหลายโครงการจากบางกระทรวงที่ควรจะโอนหรือควรจะตัดได้มากกว่านี้ แต่ก็ทำไม่ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการแปรญัตติของตน

ทั้งนี้แม้ว่าตัวของตนไม่ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ก็ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ นั่งฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ และพบเห็นข้อสังเกตที่จะนำมาเรียน คือ

ประการที่หนึ่ง ระยะเวลาที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ใช้พิจารณาค่อนน้อย ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณที่โอนออกถึง 88,000 ล้านบาท และอย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่ามีค่าเสียโอกาสซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งเมื่อระยะเวลาสั้นขนาดนี้ การทำงานของคณะกรรมาธิการจึงไม่สามารถทำได้อย่างละเอียด การพิจารณาหน่วยงานต่างๆก็เป็นไปอย่างรวบรัดและรวดเร็วอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้การเรียกเอกสารจาก ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกหลายคนของพรรคก้าวไกล ที่เป็นกรรมาธิการอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้ชี้แจงให้ทราบว่ามีการเรียกเอกสารหลายอย่างมีความล่าช้า บางเอกสารจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับ อย่างเช่น การขอรายละเอียดการอนุมัติงบกลางของรายจ่ายเงินสำรองกรณีฉุกเฉินเดิม 96,000 ล้านบาท ว่าเดิมทีมีการอนุมัติอย่างไร ใช้จ่ายอย่างไร เอกสารนั้นก็ยังมาไม่ถึง รวมถึงมีการร้องขอเอกสารรายละเอียดของโครงการหรืองบประมาณที่เหลือทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ในการตัดลดงบประมาณ ว่าแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานมีโครงการอะไรบ้าง เป็นงบประมาณเท่าไหร่ที่เข้าข่ายที่สามารถจะตัดงบประมาณออกมาได้ เพื่อจะสามารถพิจารณาในรายละเอียด แต่เอกสารฉบับนี้ก็ยังมาไม่ถึง ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นด้วยเหตุผลอะไร หรือเพราะกรรมาธิการชุดนี้มีระยะเวลาในการพิจารณาสั้นมากๆ ทำให้หน่วยงานจัดทำเอกสารไม่ทัน หรือเป็นความตั้งใจที่จะไม่แสดงเอกสารให้กับกรรมาธิการ ซึ่งแน่นอนกรรมาธิการที่ขอเอกสารเหล่านี้ล้วนเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยของฝ่ายค้าน และที่เป็นข้อสังเกตที่น่าห่วงใยมากที่สุด คือการชี้แจงเอกสารของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเอกสารที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ต้องเรียนว่าเป็นเอกสารที่ตนก็ไม่ทราบว่าจะเรียกว่า”ลับ” อย่างไร แต่กระทรวงกลาโหมให้เหตุผลว่าเป็นเอกสารลับ เมื่อแจกให้กับคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้ว เมื่อจบการพิจารณาของหน่วยงานนั้น ก็เรียกคืนทันที ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรที่การโอนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 17,000 กว่าล้านบาท มีหลาย 100 โครงการ คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องใช้เวลาที่จะตรวจสอบดูเอกสาร แต่กระทรวงกลาโหมปฏิเสธเรียกเอกสารกลับทันที ดังนั้นข้อสังเกตนี้ตนมีความเป็นห่วงมาก ว่าในชั้นกรรมาธิการงบประมาณ 2564 กระทรวงกลาโหมจะปฏิบัติแบบนี้อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นกรรมาธิการวิสามัญหรืออนุกรรมาธิการ ซึ่งต้องบอกว่ามีความจำเป็นมากในการที่จะต้องเก็บเอกสารเอาไว้ที่กรรมาธิการเพื่อจะได้ศึกษาดูรายละเอียด จึงขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าขออย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในกรรมาธิการงบประมาณ 2564 แต่ข้อสังเกตที่ได้ตั้งไว้นั้น ตนเห็นว่าไม่ได้เป็นความลับอะไร เพราะเอกสารหรือข้อมูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณปี 2563 ซึ่งตนก็ได้ไปดูจากเอกสารตรงนั้นที่จะมาให้เหตุผลถึงการตัดงบประมาณของกลาโหมในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ ต้องบอกว่ากระทรวงกลาโหมตัดงบประมาณประมาณ 17,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และเมื่อไปดูในรายละเอียดจะพบว่าตัดได้ถือว่าต้องชื่นชมได้ในระดับหนึ่ง มีหลายโครงการที่กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพบกตัดออกทั้งโครงการ แต่ก็ต้องขอเรียนว่าในรายละเอียดเชิงลึกกระทรวงกลาโหมสามารถเสียสละเพื่อประเทศชาติได้มากกว่านี้ เพราะเมื่อไปดูงบผูกพันเดิม ตั้งแต่ปี 2562 มีของกองทัพอากาศ 1 โครงการ ชื่อว่าโครงการปรับปรุงผิดความสามารถเครื่องบินลำเลียงแบบที่8(C130) ซึ่งโครงการนี้เป็นการก่อหนี้ผูกพันตั้งแต่ปี 2562 ปรากฏว่าการเบิกจ่ายของโครงการนี้มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้า คือในปี 2562 ตั้งงบประมาณไว้แต่มีการเบิกจ่ายเป็นศูนย์ และในปี 2563 มีการตั้งงบประมาณขึ้นไปอีก 362,000,000 บาท ดังนั้นกองทัพอากาศตัดงบประมาณในโครงการนี้ออกไป 227 ล้านบาท ตนจึงเห็นว่านี่เป็นตัวอย่างที่กองทัพบกควรจะต้องดู เพราะในขณะเดียวกันของกองทัพบกมีโครงการในลักษณะนี้ไม่ใช่น้อยที่มีการตั้งงบประมาณผูกพันเอาไว้ตั้งแต่ปี 2562 แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการเบิกจ่าย และยังมีการตั้งงบประมาณในปี63อีก ซึ่งแน่นอนอย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่าไม่ได้มีการตัดงบประมาณออก ยกตัวอย่างเช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธ งบประมาณทั้งโครงการ 4,226,000,000 บาท ผูกพันตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2564 ซึ่งในปีแรกนั้นไม่ได้มีการเบิกจ่ายเลย โดยมีการตั้งไว้ 800กว่าล้านบาท และในปี 2563 ได้มีการตั้งไว้อีก 1,690ล้านบาท ก็ยังไม่ทราบว่าจะเบิกจ่ายได้หรือไม่ แต่ที่แน่แน่ คือไม่มีการโอนงบในส่วนนี้ออก 

นอกจากนั้นเงินจำนวน 800 กว่าล้านบาทที่ตั้งไว้ในปี 2562 สุดท้ายที่ไม่ได้โอน อละไม่ได้จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ แต่เมื่อไปดูในเอกสารปีงบประมาณ 2563 จะเห็นว่ามีการโอนเปลี่ยนแปลงเอาเงินส่วนหนึ่งจากโครงการนี้ไปซื้อเครื่องแต่งกาย ซึ่งนี่เป็นปัญหา เพราะของบประมาณมาเพื่อจัดซื้อผลิตเฮลิคอปเตอร์ แต่เมื่อถึงเวลาซื้อไม่ทันต้องนำไปซื้อเครื่องแต่งกาย ตนจึงมีความเป็นห่วงว่าในปี 2563ที่ตั้งไว้ 1690ล้านบาท กองทัพยกก็ไม่ยอมเสียสละที่จะโอนออกมาเพื่อเป็นงบกลางในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้กับพี่น้องประชาชน แต่ยังคงกักงบนี้เอาไว้ ดังนั้นต้องมารอดูกันว่าในชั้นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ 2564 จะมีการโอนงบประมาณในส่วนนี้ไปทำอะไร แต่เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นการซื้อเฮลิคอปเตอร์อย่างแน่นอน