ข่าว

 ผลวิจัยใหม่ชี้ ร่างกายอาจไม่สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 หรือสร้างแต่อยู่ไม่นาน 

ผลวิจัยใหม่ชี้ ร่างกายอาจไม่สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 หรือสร้างแต่อยู่ไม่นาน 

18 มิ.ย. 2563

งานวิจัยจากการสุ่มตรวจบุคลากรการแพทย์ในอู่ฮั่น กว่า 2.3 หมื่นพบแค่ 4% เท่านั้นที่มีแอนติบอดีไวรัสโรคโควิด-19


ทีมวิจัยนำโดย หวัง ซินฮวน จาก รพ.จงหนาน มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เผยผลวิจัยใหม่ที่พบว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าโรคโควิด-19 แล้วจะผลิตแอนติบอดี หรือผลิตออกมาแล้วอยู่ได้นาน โดยจากการสุ่มตรวจตัวอย่างจากบุคลากรการแพทย์และทีมงานรพ. ในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ในช่วงแรก  จำนวน 2.3 หมื่นตัวอย่าง พบบุคลากรการแพทย์แค่ 4% และคนทำงานทั่วไปในรพ. 4.6% เท่านั้นที่มีสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี IgG เมื่อถึงเดือนเมษายน 

อย่างไรก็ดี นักวิจัย ประเมินว่าอัตราการติดเชื้อในหมู่บุคลากรรพ.ในอู่ฮั่นน่าจะอยู่ที่ราว 25% เนื่องจากบางคนไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าติดเชื้อนี้อยู่  และหมอและพยาบาลในอู่ฮั่นไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันพิเศษขณะรักษาผู้ป่วยก่อนที่จะมีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าไวรัสแพร่จากคนสู่คนได้ 

 

 

แอนติบอดี เป็นโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต้านทานโรค และแอนติบอดีบางชนิด เช่น immunoglobulin G หรือ  IgG สามารถอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน เช่น เคยพบอดีตผู้ป่วยโรคซาร์ส ยังมีแอนติบอดี IgG หลังจากหายป่วย 12 ปี 

“มีแนวโน้มที่ร่างกายจะไม่ผลิตแอนติบอดีต่อต้านไวรัสชนิดนี้ยืนระยะได้นาน” นักวิจัยสรุปในรายงานที่เผยแพร่บน medRxiv.org เวบไซต์รวมบทความวิชาการก่อนตีพิมพ์ และยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ ( peer review ) 

งานวิจัยก่อนหน้า พบว่าผู้ป่วยพัฒนาสารภูมิต้านทาน IgG หลังเริ่มป่วย 2 สัปดาห์ ขณะนักวิจัยชุดนี้พบว่าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อและมีอาการปรากฎชัด มักสร้างภูมิต้านทานได้มากกว่า แต่กว่า 10% อาจสูญเสียภูมิต้านทานภายในประมาณ 1 เดือน

 

ผลการค้นพบมีผลพัวพันอย่างสำคัญต่อการประเมินภูมิคุ้มกันหมู่  การใช้แอนติบอดีรักษาโรค  การวางยุทธศาสตร์สาธารณสุข และการพัฒนาวัคซีน จากผลการศึกษานี้ชี้ว่า การตรวจแอนติบอดีอาจยังไม่มากพอที่จะใช้บอกได้ว่าคนคนนั้นเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ และการมีอยู่ของแอนติบอดีไวรัสโคโรน่าอย่าง IgG อาจไม่ได้หมายถึงภูมิคุ้มกันในเวลาต่อมา “แนวคิดออกใบรับรองภูมิคุ้มกันให้กับผู้หายป่วยจากโควิด-19 อาจเป็นโมฆะ” นักวิจัยกล่าว 

ขณะที่  Wu Yingsong ผู้อำนวยการส่วนวิจัยวิศวกรรมแอนติบอดี มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น เมดิคอล ในกว่างโจว กล่าวว่า ผลศึกษาชิ้นนี้ควรรับรู้อย่างระมัดระวัง เพราะการตรวจแอนติบอดีส่วนใหญ่ เป็นการตรวจชนิดแอนติบอดีสองชนิดเท่านั้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ผลที่ได้อาจไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าที่เรายังไม่เข้าใจ 

ที่มา SCMP