เร่งแก้ปัญหา แมงกะพรุนพิษที่ชายหาดแหลมสมิหลา เพิ่มจุดวางน้ำส้มสายชู ทั่วทั้งชายหาด
กรณีหนูน้อยวัย 7 ขวบจาก กทม.ลงว่ายน้ำเล่นริมชายหาดสมิหลาแขนไปถูกแมงกะพรุนพิษวิ่งขึ้นมาร้อง ปวดแสบปวดร้อนที่แขนซ้ายตรงข้อมือ คุณแม่จูงลูกวิ่งมาขอความช่วยเหลือ จนอาการดีขึ้น
จากกรณีที่ เด็กหญิงศุภรัตน์ เจริญสุข หรือน้องอาย หนูน้อยวัย 7 ขวบ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมกับญาติบริเวณชายหาดสมิหลา ลงไปเล่นน้ำบริเวณชายหาดใกล้นางเงือกทอง และในขณะที่ลงว่ายน้ำเล่น บริเวณชายหาด แขนได้ไปก็ถูกแมงกะพรุนพิษ ทำให้ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนและเจ็บปวดที่แขนซ้ายที่ข้อมือเป็นอย่างมาก วิ่งร้องจ้าขึ้นมาบอกคุณแม่ และมาขอความช่วยเหลือจากแม่ค้ารถเข็นที่ขายของอยู่บริเวณริมชายหาด หลายคนช่วยกันเพราะรู้ว่าโดนแมงกะพรุนพิษแม่ค้าก็ขยี้ใบผักบุ้งทะเล แล้วนำมาแปะบริเวณที่หนูน้อยปวดแสบปวดร้อนและใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่โดนแมงกะพรุนพิษปฐมพยาบาลอยู่ประมาณ 15 นาที ทำให้อาการทุเลาลง หยุดร้องไห้ และยังมีอีก 1 รายที่โดนแมงกะพรุนพิษเช่นเดียวกัน คือ ด.ช.นาชิน ชัยยะ อายุ 7 ขวบ มาท่องเที่ยวกับครอบครัวและลงเล่นน้ำทะเลที่ชายหาดชลาทัศน์ โดนแมงกะพรุนพิษที่ข้อมือขวาชุดกู้ภัย มูลนิธิร่วมใจกู้ภัยเมืองสงขลาเข้าปฐมพยาบาลราดน้ำส้มสายชูและนำส่งโรงพยาบาลเมืองสงขลา
วันนี้ (ที่ 29 มิ.ย.63) นายสนธยา ประไพทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สงขลา พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักบริหารจัดการฯ ลงพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์และชายหาดสมิหลาสงขลา เพื่อทำการตรวจสอบจุดที่นำน้ำส้มสายชูมาวางไว้บริเวณชายหาดทั้งสองหาดเพื่อไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เมื่อโดนแมงกะพรุนพิษ ก็จะนำน้ำส้มสายชูนี้ ใช้งานได้ทันที สำหรับบริเวณชายหาดชลาทัศน์ ตั้งแต่บริเวณลานวัฒนธรรมมาจนถึง คนนั่งอ่านหนังสือ มีการวางน้ำส้มสายชูไว้ 3 จุดและที่แหลมสมิหลามีอีก 1 จุด
จากการตรวจสอบพบว่าบางจุดยังมีน้ำส้มสายชูอยู่บริเวณเสาที่ปักไว้และมีป้ายบอกขั้นตอนในการรักษาพยาบาลเมื่อโดนแมงกะพรุนพิษอย่างละเอียด
ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ก็จะได้มีการทำเสาวางน้ำส้มสายชูเพิ่มอีก ประมาณ 30 ถึง 40 จุดบริเวณชายหาดสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ เพื่อให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยวและประชาชนหากโดนแมงกะพรุนพิษก็สามารถที่จะมานำน้ำส้มสายชูจากบริเวณที่ใกล้ที่สุด ไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องวิ่งหาจากที่ไหนอีก
นายสนธยา ประไพทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สงขลา ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ที่มาท่องเที่ยวบริเวณชายหาดชลาทัศน์และชายหาดสมิหลาอย่านำน้ำส้มสายชู ที่ทางเราตั้งไว้บริเวณเสานำไปใช้โดยไม่ได้เกิดประโยชน์ เนื่องจากน้ำส้มสายชู ที่ทางสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ตั้งไว้บางครั้งก็หาย บางครั้งเด็กนำเททิ้งนำขวดไปเล่น เป็นการยากต่อการควบคุม เนื่องจากนำมาวางไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่โดนแมงกะพรุนพิษบาดเจ็บเท่านั้น แต่เมื่อมีเด็กหรือประชาชนบางคนนำน้ำส้มสายชูไป เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที จึงขอความร่วมมือ นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ในเรื่องน้ำส้มสายชูด้วย
แมงกะพรุนหัวขวด ( Blue Bottle Jellyfish )ที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายฝั่ง หรือบนชายหาด เมื่อผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเลไปถูกส่วนหางที่เป็นสาย ตรงนี้จะมีพิษก็จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขึ้นมาทันที แมงกะพรุนหัวขวดชนิดนี้มีลักษณะคล้ายลูกโป่งสีฟ้าและลอยน้ำ ส่วนใหญ่ที่โดนจะเป็นเด็ก เพราะว่า นึกว่าลูกโป่งแล้วจับเล่นอยากจะเตือนนักท่องเที่ยวผู้ปกครองที่มาท่องเที่ยวบริเวณแหลมสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ สงขลาและนำลูกหลานเล่นน้ำทะเลชายฝั่ง ก็ให้สังเกตให้ดี แมงกะพรุนชนิดนี้มันลอยคล้ายลูกโป่งและบางครั้งอาจถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนหาดทรายก็ให้พยายามหลีกเลี่ยง ส่วนพิษของแมงกะพรุนหัวขวดไม่ได้อันตรายถึงชีวิตแต่ก็เจ็บปวดต้องไปโรงพยาบาลจึงอยากให้พยายามหลีกเลี่ยง
นภาลัย ชูศรี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดสงขลา