ข่าว

นักวิทยาศาสตร์จีนพบไข้หวัดหมูชนิดใหม่ อาจก่อโรคระบาดใหญ่ได้

นักวิทยาศาสตร์จีนพบไข้หวัดหมูชนิดใหม่ อาจก่อโรคระบาดใหญ่ได้

30 มิ.ย. 2563

นักวิจัยในจีนพบไข้หวัดหมู (swine flu ) H1N1 ชนิดใหม่ ชื่อ G4 แพร่ในจีน มีศักยภาพปรับตัวแพร่คนสู่คน และก่อโรคระบาดใหญ่ได้ 


ผลศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences  ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี )ของจีน และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีน ค้นพบไวรัสไข้หวัดหมูชนิดใหม่ชื่อ G4 EA H1N1 หรือ G4  สืบสายพันธุกรรมจากไวรัส H1N1 ที่เคยก่อโรคระบาดใหญ่ ( pandemic ) เมื่อปี 2552  แม้ยังไม่ใช่ภัยคุกคามเฉพาะหน้าเวลานี้ แต่เชื้อชนิดใหม่มีลักษณะครบถ้วนที่จะปรับตัวสู่การแพร่เชื้อจากคนสู่คน และกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ได้

ที่ผ่านมา  พบผู้ติดเชื้อคล้ายไวรัสใหม่ยืนยัน 2 ราย ในปี 2559 กับ 2562 อายุ 46 ปีกับ 9 ปี และผลสำรวจทางระบาดวิทยาพบว่าผู้ป่วยทั้งสองราย มีเพื่อนบ้านเลี้ยงหมู บ่งว่า เชื้อ G4 สามารถแพร่จากหมูสู่คนได้ และอาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรืออาจถึงแก่ชีวิต นักวิจัยไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องอาการ เนื่องจากยังไม่ได้แพร่ในคนวงกว้าง 
 

แต่จากการทดลองกับตัวเฟอร์เรท ที่มักใช้ในการศึกษาไข้หวัดใหญ่เพราะเป็นสัตว์ที่แสดงอาการใกล้เคียงกับมนุษย์ เช่น เป็นไข้ ไอและจาม พบว่า ไวรัสหวัดหมู G4 ติดเชื้อและแบ่งตัวในเซลล์มนุษย์ได้ง่าย และอาการในเฟอร์เรต รุนแรงกว่าไวรัสหวัดใหญตัวอื่น

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจป้ายจมูกหมูจากโรงฆ่าสัตว์ 3 หมื่นตัว ใน 10 มณฑลของจีน และที่โรงพยาบาลสัตว์ 1 แห่ง ช่วงปี 2554 – 2561 เพื่อศึกษาความเสี่ยงของไวรัสไข้หวัดหมูต่อคน นักวิจัยพบไวรัสไข้หวัดหมู 179 ชนิด และนับจากปี 2559 เป็นต้นมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นไวรัสที่สามารถแพร่สู่คนและก่อโรคระบาดได้  

นอกจากนี้ ผลตรวจตัวอย่างเลือด 300 ตัวอย่างจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในฟาร์ม 15 แห่ง พบว่ามีแค่ 10.4% เท่านั้นที่มีสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีไวรัส G4 ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสมากที่ไวรัสชนิดนี้จะแพร่ระบาดในคนได้ นักวิจัยแนะว่าควรรีบดำเนินมาตรการควบคุมไวรัสในหมู สอดส่องอาการคนทำงานใกล้ชิดกับสุกร เพื่อยับยั้งการระบาดในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว