ศาลฏีกาพิพากษาให้"คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง" ชดใช้คดีทุจริตข้าวจีทูจี กว่า 2หมื่นล้าน
ศาลฏีกาพิพากษาให้คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง" สุธี เชื่อมไธสง" ชดใช้คดีทุจริตข้าวจีทูจีกว่า 2หมื่นล้าน ซึ่งเจ้าตัวได้หลบหนีคดีไปตั้งแต่ช่วงต้นที่มีการฟ้องคดีนอกจากนี้ก่อนหน้านี้ยังถูกพิพากษาจำคุกรวม 32 ปี
วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีของนายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุธี เชื่อมไธสง เป็นจำเลยที่ 16 คดีทุจริตจีทูจี เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ,พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาวินิจฉัยในส่วนแพ่งว่า ผู้ร้องที่ 1-4 ไม่เป็นผู้เสียหาย ให้นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ร่วมกับ บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 , นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 14 และนายนิมล รักดี จำเลยที่ 15 ชำระเงินแก่กระทรวงการคลัง ผู้ร้องที่ 5 จำนวน16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ต่อมาผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐผู้เสียหาย อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องที่ 1 -4 เป็นผู้เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 16 ชำระค่า
เสียหายเพิ่มขึ้นด้วย
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นคู่สัญญา ผู้ร้องที่ 2-3 มีหน้าที่สำคัญตั้งแต่การรับจำนำข้าวเปลือก แปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และผู้ร้องที่ 4 มีหน้าที่กำกับให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าว ผู้ร้องที่ 1-4 จึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต วางแผนกันมาเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่การเสนอกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าว เพิ่มถ้อยคำ “รัฐวิสาหกิจ”ในวิธีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้ บริษัท สยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 โดย น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 , น.ส.เรืองวัน เลิศลารักษ์ จำเลยที่ 12 และนายอภิชาติ จำเลยที่ 14นำบริษัท กว่างตงฯ และบริษัท ห่ายหนานฯ ซึ่งเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาเป็นคู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขายขาวแบบรัฐต่อรัฐรวม 4 สัญญา เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
สัญญาที่ทำขึ้นเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะและเป็นการกระทำละเมิดสัญญาดังกล่าว จึงไม่ผูกพันผู้ร้องทั้งห้า
สำหรับความเสียหายตามสัญญาแต่ละฉบับที่ไม่จำต้องนำค่าใช้จ่ายใดๆ มาปรับลดและผู้ร้องทั้งห้าได้รับความเสียหายนับ แต่วันทำสัญญาแต่ละฉบับ ให้จำเลยที่ 16 ร่วมกับจำเลยที่10 ที่ 14 และที่ 15 ชำระค่าเสียหายตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ รวมเป็นเงินต้น 20,057,723,761.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นแต่ละยอด ประกอบด้วยดอกเบี้ยของเงินต้น ในยอด 10,991,736,253.54 บาท ให้ชำระนับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.54 ของยอด 2,197,070,607.79 บาท
ให้ชำระนับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.54, ของต้นเงินในยอด 6,687,421,374.73 บาท ให้ชำระนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 55, ของยอด 199,495,525.60 บาท ให้ชำระนับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 55เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่หน่วยงานผู้ร้องที่เสียหายทั้งห้า ซึ่งดอกเบี้ยที่นับถึงวันยื่นคำร้องนั้น ต้องไม่เกินจำนวนตามที่ผู้ร้องทั้งห้าขอ นอกจากที่แก้แล้ว ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ศาลยังให้ออกคำบังคับสำหรับค่าเสียหายส่วนแพ่งที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณี
จำเลยที่ 16 แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับนายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง เป็นนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ เป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุก 48 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง
ตำแหน่งทางการเมืองคดีทุจริตจีทูจี ซึ่งคดีของเสี่ยเปี๋ยงถึงที่สุดแล้วเมื่อเดือน ก.ย. 2562 จากที่องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ได้พิพากษาแล้ว
ส่วนนายสุธีเป็นคนสนิทของเสี่ยเปี๋ยง ซึ่งได้หลบหนีคดีไปตั้งแต่ช่วงต้นที่มีการฟ้องคดีเข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วต่อมาเมื่อมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ออกมาบังคับใช้ ให้พิจารณาคดีที่ไม่มีตัวจำเลยซึ่งได้มีการออกหมายจับไว้แล้วได้ โดยในส่วนของคดีอาญา นายสุธีถูกพิพากษาให้จำคุก 4 กระทง รวม 32 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง