กรมการข้าว นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในจ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์
กรมการข้าว นำสื่อขึ้นเหนือเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในจ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เพื่อดูกรรมวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดจนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกช่วงโควิด-19
เมื่อวันที่ 2 และ 3 มิถุนายน 2563 นายทัศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษา กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่จ.กำแพงเพชรและนครสวรรค์ โดยวันที่ 2 มิถุนายน ได้เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด อ.ไทรงาม จ.พิจิตร ซึ่งมีนายทฤษฏี เพชรมะลิ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ120คน มีพื้นที่ทำนากว่าพันไร่ ผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพหลายชนิด อาทิ ทับทิมชุมแพ ข้าวหอมมะลิซากังราว ข้าวหอมมะลิโกเมนสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิดำหนองคาย โดยผลผลิตทั้งหมดนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆที่หลากหลาย
อาทิ น้ำมันรำข้าว สบู่ก้อน ครีมอาบน้ำ แชมพู โลชั่น ครีมบำรุงผิว นำปรายข้าวมาแปรรูปเป็นแป้งเพื่อทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมครก คุกกี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เข้าสู่ระบบนาแปลงใหญ่และมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชุมชนที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีพ
นายทฤษฏี เพชรมะลิ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาดกล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาดประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาประณีตแบบแม่นยำ ใช้วิธีปักดำทั้งหมด คุมวัชพืชด้วยน้ำ มีกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมการข้าวได้ให้การสนับสนุนโดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง โดยเน้นการผลิตข้าวอินทรีย์ ยึดหลักซื่อสัตย์ ยุติธรรม สะอาด ปลอดภัย โดยพยายามฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียไปให้กลับมามีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์อย่างเช่นอดีต มีการจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มแม่บ้าน และเด็กนักเรียนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วม จึงกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวปลอดภัย โดยเฉพาะข้าวโภชนาการสูง เช่นข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวมะลินิลสุรินทร์ แหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร
ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 120 คน มีการเรียนรู้พัฒนากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพและขีดจำกัดของชุมชนอย่างเป็นระบบ สมาชิกมีการพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองและจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่างเช่น ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งที่ได้รับมาจากกรมการข้าวและหน่วยงานภาคีที่เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของนาแปลงใหญ่ ทางกลุ่มมีการบริหารจัดการสวัสดิการให้แก่สมาชิกอย่างยุติธรรม เช่นการประกันราคาข้าวให้แก่สมาชิกในราคาสูง เพื่อสร้างแรงจูงใจและมีความตั้งใจในการเพาะปลูก มีการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักการ ทำให้สมาชิกมีความขยันหมั่นเพียร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อยอดมาถึงการทำวิสาหกิจในชุมชน
“ผลผลิตข้าวทั้งหมดจะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวรมารช่วยดูแลพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และมีบริษัท ขวัญดาว โปรเจค จำกัดดูแลเรื่องการตลาดการจำนห่ายผลผลิตทั้งหมด ทำให้กลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 3-5 แสนบาทต่อเดือน”ประธานกลุ่มคนเดิมกล่าว
อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด ยังมีความตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด การสื่อสาร และการขนส่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ว่า “จากแปลงนาที่เราบรรจงปลูก จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ส่งรุ่นหลาน เพื่อพี่น้องทั่วไทย”
นางดาวใจ ศรลัมพ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ขวัญดาว โปรเจค จำกัด ซึ่งดูแลการตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาดกล่าวยอมรับว่าได้เข้ามาดูแลด้านการตลาดให้กลับกลุ่มมานานแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานผ่านการวิจัยและพัฒนาจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยผลิตภัณฑ์ที่รับซื้อจากกลุ่มมีหลายตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชาหมักจากรำข้าวพร้อมดื่มเพื่อสุขภาพ คอมมูชา ขณะนี้ได้ทำตลาดส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน ที่ปรึกษากรมการข้าวพร้อมคณะผู้บริหารกรมการข้าวและสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังกลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยน้ำหอม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เพื่อร่วมฟังการบรรยายเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานของมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยน้ำหอมและสมาชิกให้การต้อนรับ
นางสาวสมจิตร โพธิวิจิตร ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยน้ำหอม เปิดเผยว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยน้ำหอมปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 169 ราย มีพื้นที่นาทั้งหมด 4,984 ไร่ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หลากหลายได้แก่ ข้าวพันธุ์กข41 พันธุ์พิษณุโลก2 ชัยนาท1 ขาวดอกมะลิ105 และการผลิตข้าวเพื่อการแปรรูป จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาข้าวเป็นอาชีพหลัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวของทางราชการ บางส่วนใหญ่เมล็ดพันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายฤดูทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวขาดคุณภาพและผลผลิตลดลงและมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
“แต่ก่อนเกษตรกรมีการทำนาน3ครั้งต่อปี เพราะคิดว่าน่าจะได้ผลผลิตข้าวมากกว่าทำนาปีละ 2ครั้ง ทำให้ขาดการพักดินและการเตรียมดินให้เหมาะสม จึงส่งผลให้บางฤดูประสบปัญหาโรคแมลง ความเสื่อมถอยของดินและพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน จากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวใหม่ จากการหว่านน้ำตมเป็นวิธีการหยอด เปลี่ยนจากทำนา 3 ครั้งเป็น 2 ครั้ง ทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นจากเคยได้ 350 กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 714 กิโลกรัมต่อไร่ การแปรรูปข้าวสารเต็มเมล็ดสูง”
ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยน้ำหอมย้ำด้วยว่าหลังจากกรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมโดยการจัดเวทีชุมชน ทำให้เกษตรกรมีความรู้การทำนาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นดิน สามารถผลผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีสู่ชุมชน ลดปัญหาพันธุ์ปลอมปนทำให้การผลิตข้าวที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคต่อไป
ทัศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษากรมการข้าว
นายทัศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษากรมการข้าวกล่าวภายหลังการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยระบุว่านาแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มเพื่อมีอำนาจการต่อรองและการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญช่วยในการลดต้นทุนในการซื้อปัจจัยการผลิตลดลง มีการแบ่งการทำงานนกันเป็นทีม ซึ่งจากภาพรวมในการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันทั่วประเทศมีกลุ่มนาแปลงใหญ่กว่า 2 พันแห่งและกรมการข้าวมีนโยบายขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
“นาแปลงใหญ่เราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้แต่จะดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นโครงการที่ได้รับความนิยมจากพี่น้องเกษตรกรชาวนาเพิ่มมากขึ้น มีการขึ้นบัญชีไว้เยอะมาก แต่งบประมาณมีจำกัด ทั้งนี้ทก็จะพยายามผลักดันให้มีกลุ่มนาแลปงแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาดีขึ้น ขณะนี้ทั้งกลุ่มนาแปลงใหญ่และศูนย์ข้าวชุมชนกำลังทำเรื่องเสนอรัฐบาลเพื่อของบฟื้นฟูเศรษฐกิจกลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาทเพื่อมาดำเนินการพัฒนากลุ่มต่อไป”ที่ปรึกษากรมการข้าวกล่าว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรมการข้าวได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1แสนตัน จากความต้องการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันหรือประมาณ10% ขณะที่มีปริมาณเมล็ดพันธุ์หมุนเวียนอยู่ในประมาณ 4-5 แสนตันต่อฤดูการผลิต