หนุ่มเป็น งง เจอซูชิที่ซื้อมาเรืองแสง อ.เจษฎา ร่ายยาวสาเหตุ เตือนอย่ากิน
หนุ่มเป็น งง เจอซูชิที่ซื้อมาเรืองแสง อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ร่ายยาวสาเหตุโดยสันนิษฐานที่เป็นไปได้ 3 อย่าง เตือนอย่ากิน
เรื่องราวของหนุ่มท่านหนึ่ง ที่โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังซื้อซูชิมากิน แต่ปรากฏว่า ในซูชิกล่องนั้น มีกุ้งชิ้นหนึ่งที่ หลังจากที่ปิดไฟปรากฏว่า มันเรืองแสงขึ้นมา กลายเป็นซูชิเรืองแสง ทำเจ้าตัวงงหนักมา และไม่กล้าแม้แต่จะกินซูชิกล่องนี้
"ซื้อซูชิมา ทำไมมันเรืองแสงอะครับ ใครรู้บอกทีไม่กล้าแดกเลย"
ซึ่งหลังจากที่เจ้าตัวโพสต์ลงเฟซบุ๊ก จากนั้นก็มีชาวเน็ตแชร์ต่อ และเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม มีทั้งความฮาและสาระปะปนกันไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้อธิบายสาเหตุที่ซูชิเรืองแสง ระบุว่า
"อาหารทะเลเรืองแสงได้เพราะอะไร?"
เช้านี้มีหลายคนส่งรูปซูชิหน้ากุ้งดิบ ว่าไปเจอที่มันเรืองแสงได้เองในที่มืด (ไม่ได้ไปฉายแสงแบล็คไลท์ หรือแสงยูวี) อยากรู้ว่าเกิดจากอะไร ?
เรื่องอย่างนี้ควรส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบก่อน จะชัดเจนที่สุดนะครับว่าเกิดจากอะไร แต่ถ้าจะสันนิษฐานว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง ก็คงต้องเทียบเคียงกับที่เคยมีคนพบ "ลูกชิ้นปลาเรืองแสง" เมื่อก่อนตอนปี 2553 ซึ่งกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เคยอธิบายไว้ว่า มีสาเหตุที่เป็นไปได้ 3 อย่างคือ
1. อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในทะเล กลุ่ม photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ (เช่น Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum) ติดมากับปลาที่ใช้ทำลูกชิ้น
แต่เชื้อพวกนี้จะถูกทำลายไปด้วยความร้อนระหว่างการผลิตลูกชิ้น ถ้าพบเยอะขนาดที่เรืองแสงบนลูกชิ้นได้ แสดงว่าอาจปนเปื้อนหลังผ่านความร้อนแล้ว และเก็บลูกชิ้นไว้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำเพียงพอ (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น
2. ปลาที่เอามาทำลูกชิ้นนั้น อาจกินแพลงก์ตอนสาหร่ายกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต หรือเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ เช่น Vibrio harveyi ที่เรืองแสงในน้ำได้
3. อาจมีการเติมสารเคมีบางชนิดที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ เช่น วัตถุเจือปนอาหารประเภทฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น และทำให้เกิดความนุ่มเหนียว รวมถึงสารฟอกขาว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์
ถ้าประเมินจากแค่ 3 สาเหตุนี้ การที่ซุชิหน้ากุ้งดิบจะเรืองแสงได้ ก็น่าจะมาจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงที่เนื้อกุ้งมากกว่าเรื่องของใส่สารเคมี ซึ่งก็ต้องเอาไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้อชนิดไหน มีอันตรายแค่ไหน รวมไปถึงที่มาว่ามีปัญหาในเรื่องสุขลักษณะในการผลิตและเก็บรักษาหรือไม่
คำแนะนำที่พอจะพูดได้คือ ถ้าพบลักษณะอาหารผิดปกติแบบนี้ ก็ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะนอกจากเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงได้ ยังอาจมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดอื่นๆ ด้วย อาจมีอันตรายต่อสุขภาพท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้
ขอบคุณเฟซบุ๊ก เบส เสส , อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์