แคนาดาไฟเขียวผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 4 คนใช้เห็ดขี้ควาย บรรเทาความทุกข์
รัฐบาลแคนาดาอนุญาตให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 4 คน ได้รับการยกเว้นใช้เห็ดขี้ควายอย่างถูกกฎหมายได้ เยียวยาจิตใจ คาดกรุยทางปลดล็อกในอนาคต
แพตตี ฮัจดู รัฐมนตรีสาธารณาสุขแคนาดา อนุมัติให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหมดทางรักษา 4 คน ใช้เห็ดขี้ควาย หรือเห็ดเมา เป็นกรณียกเว้นภายใต้กฎหมายยาเสพติดและสารควบคุม ตามที่ผู้ป่วยทั้ง 4 คนนี้ยื่นคำร้องเมื่อเดือนเมษายน
เห็ดเมา มีสารออกฤทธิ์ ซิโลไซบิน (Psilocybin) และซิโลซีน (Psilocin) สามารถทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มสุข ฝัน มึนเมา การรับรู้ผิดจากความเป็นจริง เป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายแคนาดา เว้นแต่ใช้เพื่อการทดลองทางการแพทย์ การอนุญาตให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 4 คนใช้สารซิโลไซบินได้ เป็นการยกเว้นครั้งแรกนับจากปี 2517 และคาดว่าจะปูทางไปสู่การอนุญาตให้ใช้สารออกฤทธิ์ทางประสาทในเห็ดชนิดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาความเจ็บป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต
ผลศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร จิตเภสัชวิทยา (Psychopharmacology)เมื่อเดือนมกราคมพบว่า การใช้ ซิโลไซบิน กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ช่วยลดภาวะตื่นตระหนก ซึมเศร้าและหมดหวังได้
TheraPsil องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่รณรงค์อนุญาตใช้เห็ดเมากับผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลแคนาดาถือเป็นชัยชนะของคนที่อาจหมดสิ้นทุกหนทางในการจากไปอย่างสงบ
ลอรี บรูคส์ หนึ่งในคนไข้ที่ได้รับการยกเว้น แสดงความขอบคุณรัฐบาลแม้ต้องรอการอนุมัติรวม 100 วัน และหวังว่านี่จะเป็นการกรุยทางให้ชาวแคนาดาสามารถเข้าถึงซิโลไซบินโดยไม่ต้องรออนุมัติจากทางการเป็นเวลาหลายเดือนอีก “การยอมรับความเจ็บปวดและความวิตกกังวลที่เธอทุกข์ทรมานอยู่ มีความหมายกับเธออย่างมาก”
ด้าน โทมัส ฮาร์เทิล คนไข้อีกราย บอก CTV ว่า การคิดถึงความตายที่ไม่อาจเลี่ยง ทำให้เขาจมอยู่กับความวิตกกังวลทุกวัน “มันทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก และรู้สึกแย่” ยาระงับความวิตกกังวลที่มีอยู่ ไม่ได้ช่วยอย่างที่เขาต้องการ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้เขากับผู้ป่วยอีก 3 คน เรียกร้องรัฐบาลให้การยกเว้นการใช้สารชนิดนี้ได้ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในแคนาดานาน 46 ปี
บางเมืองในสหรัฐ อาทิ เดนเวอร์ พอร์ตแลนด์และโอคแลนด์ ปลดล็อกการใช้เห็ดขี้ควายในทางการแพทย์แล้ว ส่วนจาไมกา เห็ดชนิดนี้ไม่ผิดกฎหมายและให้ใช้บรรเทาอาการป่วยบางอย่างได้
สำหรับประเทศไทย เห็ดเมา หรือเห็ดขี้ควาย จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ผู้ที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อการผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก มีโทษปรับและจำคุก