"จิ้งกุ่ง" ของอร่อยหายากที่มากลับฤดูฝน
จ.พะเยา ชาวบ้านพากันมาขุด "จิ้งกุ่ง" หลังฝนตกดินแห้งหมาดๆ ซึ่งจะทำให้มองเห็นโพรงหรือขุยของจิ้งกุ่งได้อย่างชัดเจนและง่ายต่อการขุด สามารถทำอาหารในครอบครัวทีเหลือไว้ขายสร้างรายได้เสริม
วันนี้ (8 สิงหาคม 2563) ชาวบ้านในเขตตำบลท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา พากันขุด จิ้งโกร่ง หรือ จิ๊กุ่ง หลังจากที่ในตกมาหลายวันและดินเริ่มแห้งหมาดๆ ซึ่งจะทำให้มองเห็นโพรงหรือขุยของจิ้งกุ่งได้อย่างชัดเจนและง่ายต่อการขุดเนื่องจากความอ่อนตัวของดิน ซึ่งโดยมากชาวบ้านจะขุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงสิงหาคม หลังจากนั้นจะหยุดขุดในเดือนกันยายนเพื่อให้จิ้งกุ่งได้วางไข่แพร่พันธุ์ต่อไป
นายหาญ ธรรมโม อายุ 69 ปีชาวบ้าน สันขะเจ๊าะ ม. 14 ต.ท่าวังทอง ซึ่งออกไปขุดจิ้งกุ่งตามป่าชุมชนข้างๆ บ้าน เปิดเผยว่า ปกติจะทำอาชีพทำไม้กวาดทางมะพร้าวขายตามประสาผู้สูงอายุในชนบท ฤดูกาลไหน มี พืชผัก ผลไม้หรือสัตว์ที่ออกตามฤดูกาลก็จะทำมาหาได้เป็นไปตามนั้นซึ่งมันก็คือ วิถี หรือขนบของท้องถิ่นทางภาคเหนือ การขุดกิ้งกุ่ง ก็เช่นกัน ชาวบ้านนิยมขุดกันในช่วงนี้ เพราะจิ้งกุ้งเริ่มอ้วน ตัวโต เหมาะสำหรับการนำไปบริโภค ที่สำคัญในช่วงนี้จิ้งกุ่งยังไม่มีการจับคู่ผสมพันธุ์กัน การขุดขึ้นมาในช่วงนี้จึงเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์จิ้งกุ้งไว้ให้มีกินตลอดไป แต่ถ้าเป็นช่วงต้นเดือนกันยายน เป็นต้นไป ตนเองหรือชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ขุดเนื่องจากเป็นฤดูกาลจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ของจิ้งกุ่ง และจิ้งกุ่งที่ได้จะนำมาทำอาหารเสียเป็นส่วนมาก ที่เหลือจึงจะนำไปขายในชุมชน โดยปัจจุบันราคาจิ้งกุ่ง 1ตัว ประมาณ 2.50 -3 บาท วันหนึ่งๆ ขุดได้ประมาณ 50-70 ตัวตัวต่อคน ถ้าตั้งใจนำไปขายจริงๆ ก็คงได้ประมาณ 150-200 กว่าบาทต่อวัน หรือถ้าไปขุดเป็นครอบครัวหรือหลายๆ คนก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี
จิ้งกุ่งที่ขุดได้ ส่วนใหญ่จะนำไปทำอาหารกินกันภายในครอบครัว หรือแบ่งญาติมิตร โดยมีเมนุยอดฮิต น้ำพริกจิ้งกุ่ง ลาบจิ้งกุ้ง ทอดเค็มจิ้งกุ่ง หรืออื่นๆตามแต่จินตนาการหรือความชอบของผู้ทำ ซึ่งแต่ละถิ่นอาจจะไม่เหมือนกันแต่ก็จะคล้ายๆ กัน ถือเป็นอาหารหายาก ราคาแพงของคนทางภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
นพพร ทาทาน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.พะเยา