ข่าว

 อัยการ เปิดข้อกฎหมาย เพิกถอน "ใบขับขี่ตลอดชีพ" ผู้สูงอายุจากสังขารที่เสื่อม ไม่มีกฎหมายบัญญัติ

อัยการ เปิดข้อกฎหมาย เพิกถอน "ใบขับขี่ตลอดชีพ" ผู้สูงอายุจากสังขารที่เสื่อม ไม่มีกฎหมายบัญญัติ

09 ส.ค. 2563

อัยการ เปิดข้อกฎหมาย เพิกถอน "ใบขับขี่ตลอดชีพ" ผู้สูงอายุจากสังขารที่เสื่อม ไม่มีกฎหมายบัญญัติ

หลังจากที่ทาง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร เปิดเผยว่า "กรมการขนส่งทางบก" ออกมาชี้แจง ถึงแนวคิดในการเปลี่ยน"ใบขับขี่ตลอดชีพ" จากบัตรแบบกระดาษมาเป็นแบบสมาร์ทการ์ด  มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฐานข้อมูลผู้ถือใบขับขี่มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันมากขึ้น  เพราะผู้ถือ"ใบขับขี่ตลอดชีพ"ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและอยู่ในฐานข้อมูลระบบเดิมซึ่งการทดสอบสมรรถภาพผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในสังคม 

อ่านข่าว : "กรมขนส่ง"แจง เรียกผู้ถือ"ใบขับขี่ตลอดชีพ"สอบใหม่ ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น

ล่าสุด  ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนว่า กรณีกรมการขนส่งเพิกถอน"ใบขับขี่ตลอดชีพ" ว่า  ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก มีโครงการที่จะให้ผู้ถือใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพที่เป็นผู้สูงอายุ ทำการทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับขี่ เนื่องจากผู้ขับรถที่สูงอายุอาจมีสภาพร่างกาย     ที่ไม่พร้อมในการขับรถ และที่ผ่านมามีอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดขึ้นจากผู้สูงอายุที่มีใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพ  และอาจมีการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพของผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ  โดยในขณะนี้มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพประมาณ 1 ล้านคน นั้น ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในข้อกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้..

การ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ ด้วยเหตุที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีสภาพสังขารร่างกายที่เสื่อมลงจากเหตุสูงอายุนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 49 ไม่ได้กำหนดให้การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เป็นเหตุให้ถือว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการมีใบอนุญาตขับรถ โดย พ.ร.บ.รถยนต์ บัญญัติถึงกรณีสภาพร่างกายที่ทำให้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้า ในการมีใบอนุญาตขับรถประเภทต่าง ๆไว้ เช่น มีร่างกายพิการจนเห็นว่าไม่สามารถขับรถได้ มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงกรณีสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุด้วย

2. การจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 53 วรรคสอง เพื่อเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมาตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้น ๆ ดังนั้น จึงต้องปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน แล้วจึงจะเรียกบุคคลนั้น ๆ เป็นรายบุคคลมาตรวจสอบได้ ไม่ใช่จะสามารถเรียกทุก ๆคนมาสุ่มตรวจแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ เช่น การกำหนดเกณฑ์ว่าคนที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไป ทุกคนต้องมาทดสอบสมรรถภาพในการขับรถ เพื่อค้นหาและตรวจสอบว่าใครที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามบ้าง โดยเชื่อว่าคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปอาจมีสภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ 
การกำหนดเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่อายุ 70 ปี ขึ้นไปทุกคนมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะขับรถได้ และคนที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถขับรถได้

การจะเรียกบุคคลอายุ 70 ปี ขึ้นไปมาทำการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ จึงจะต้องมีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ขับรถรายนั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน  ถึงจะสามารถเรียกบุคคลนั้นมาตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป และที่สำคัญ คือ ตามที่กล่าวไปแล้ว การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ  ไม่ถือเป็นการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะมีใบอนุญาตขับรถตาม พ.ร.บ. รถยนต์  ดังนั้น จะมาใช้เหตุสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เพื่อเรียกบุคคลใดมาตรวจคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายด้วยการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ  เพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของบุคคลนั้นไม่ได้ และยังเป็นการสร้างผลกระทบและภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมากอีกด้วย

การที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวความคิดที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย แต่ควรตรวจสอบถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยว่า สาเหตุหลักเกิดจากเรื่องใด ขับรถเร็ว ขับรถประมาท ดื่มสุราเสพของมึนเมาขณะขับรถ บทลงโทษตามกฎหมายไม่เหมาะสม มีบทลงโทษที่เบาเกินไปหรือว่ามีสาเหตุจากเรื่องใด แล้วเร่งรีบดำเนินการพิจารณาแก้ไขสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากเหตุนั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมและได้ผลในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่า

CR.Thanakrit Vorathanatchakul