ระบบภูมิคุ้มกันพิเศษ อัลปากา อาจถือกุญแจสำคัญสำหรับไขวิธีรักษาโรคโควิด-19
นักวิทย์ออสเตรเลีย ชี้ ระบบภูมิคุ้มกันพิเศษ อัลปากา อาจถือกุญแจสำคัญสำหรับไข ข้อมูลล้ำค่าที่จะช่วยพัฒนาวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยแอนติบอดีต่อไป
ไม่นานนี้ คณะนักวิจัยจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ระบบภูมิคุ้มกันพิเศษของ อัลปากา อาจเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาวิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19)
องค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งออสเตรเลีย (ANSTO) และ สถาบันวอลเตอร์ แอนด์ อีไลซา ฮอลล์ (WEHI) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (11 สิงหาคม 2563) ว่า สถาบันทั้งสองกำลังศึกษาแอนติบอดีของ อัลปากา เพื่อค้นหาวิธีรักษาโรคโควิด-19
นักวิจัยได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับ อัลปากา โดยใช้โปรตีนหนาม (spike protein) จากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับกับเซลล์ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อ จากนั้นจึงสามารถแยกนาโนบอดี (nanobody) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแอนติบอดีที่จะไปจับกับไวรัสจนไวรัสไม่สามารถจับกับเซลล์ร่างกายได้ ก่อนที่นักวิจัยจะทำการคัดกรองนาโนบอดีเพื่อหาความสามารถในการยับยั้งไวรัส
จากนั้น นักวิจัยได้ใช้ระบบลำเลียงแสงไมโครโฟกัส คริสตัลโลกราฟี หรือ เอ็มเอ็กซ์2 (MX2) ที่ศูนย์ซินโครตรอนออสเตรเลีย (Australian Synchrotron) ขององค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งออสเตรเลีย เพื่อศึกษาว่าระบบภูมิคุ้มกันของ อัลปากา ต่อสู้กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์วิจัยหลักอาวุโสของศูนย์ซินโครตรอนออสเตรเลีย ไมเคิล เจมส์ ระบุว่า ซินโครตรอนซึ่งเป็นครื่องเร่งอนุภาคชนิดหนึ่ง เคยถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาโปรตีนของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของไวรัส (replication) ภายในเซลล์ต่างๆ และโครงสร้างของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19
“นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ดำเนินโครงการเข้าถึงข้อมูลโรคโควิด-19 แบบรวดเร็ว เพื่อช่วยให้คณะนักวิจัยชาวออสเตรเลียและนานาชาติสามารถไขโครงสร้างอะตอมของโปรตีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” เจมส์ ระบุในแถลงการณ์
“เรากำลังศึกษาโปรตีนต่างๆ ที่สามารถช่วยต่อสู้กับไวรัสหรือป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้ ไม่ว่าจะด้วยตัวมันเอง หรือเมื่อไปผูกติดกับโมเลกุลชีวภาพหรือยาต้านไวรัสอื่นๆ”
“ในการนี้ ระบบเอ็มเอ็กซ์2 อยู่ระหว่างการใช้งานเพื่อระบุโครงสร้างของนาโนบอดีที่ทำหน้าที่ยับยั้งเหล่านี้รวมกับจุดสำคัญของโปรตีนหนามเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกโครงสร้างของการยับยั้ง”
“โครงสร้างเหล่านี้จะเผยข้อมูลล้ำค่าที่จะช่วยพัฒนาวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยแอนติบอดีต่อไป” เจมส์ ทิ้งท้าย
อ่านข่าว - วัคซีน โควิด-19 ตัวแรกของโลก WHO ขอรัสเซียเช็กคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อการันตี
(แฟ้มภาพซินหัว : อัลปากาที่สวนสัตว์ชวีสุ่ย นครลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2017)
(แฟ้มภาพซินหัว : อัลปากาที่ฐานเพาะพันธุ์อัลปากาในอำเภอหยางฉวี่ มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2018)
(แฟ้มภาพซินหัว : อัลปากาที่ผ่านการตัดขนแล้วที่ฟาร์มอัลปากาในอำเภอไถอัน มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2020)