ประธานเสธ.ทหารสหรัฐย้ำ กองทัพไม่มีบทบาท-ไม่แทรกแซงกรณีพิพาทใดๆหลังเลือกตั้ง
กองทัพสหรัฐจะไม่เข้าไปมีบทบาทใดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปี และจะไม่ช่วยยุติข้อพิพาทหากมีการคัดค้านผลเลือกตั้ง
พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐ ระบุในจดหมายตอบคำถามของกรรมาธิการ 2 ท่านในคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกาและรัฐต่างๆ ได้วางระเบียบวิธีจัดการเลือกตั้ง และหาข้อยุติกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับผลเลือกตั้งไว้แล้ว กองทัพสหรัฐไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามกฎหมายกำหนดให้ศาล และสภาคองเกรส หาทางออก "ผมยึดมั่นอย่างลึกซึ้งต่อหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองของกองทัพ"
คำตอบของพล.อ. มิลลีย์ มาจากคำถามของ ส.ส.เอลิสซา สล็อตคิน จากรัฐมิชิแกน อดีตเป็นนักวิเคราะห์ซีไอเอ และที่ปรึกษานโยบายกระทรวงกลาโหม กับ ส.ส. มิคกี เชอร์ริลล์ จากนิวเจอร์ซีย์ อดีตนักบินกองทัพเรือสหรัฐ หลังจากบทบาทกองทัพต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.นี้เป็นประเด็นขึ้นมา ท่ามกลางบรรยาศแตกแยกทางการเมืองและการขับเคี่ยวรณรงค์หาเสียง
ก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวจากเดโมแครต ถูกตั้งคำถามขณะให้สัมภาษณ์ในรายการเดลีย์ โชว์ เมื่อเดือนมิถุนายน ว่าหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานไม่ออกจากทำเนียบขาวหากแพ้เลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ไบเดน กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น เชื่อได้เลยว่ากองทัพจะเข้ามาประกบทรัมป์ออกจากทำเนียบขาวทันที
ส่วน ทรัมป์เคยถูกถามหลายครั้งว่าจะยอมรับผลเลือกตั้งหรือไม่ แต่ไม่เคยตอบรับอย่างเปิดเผย โดยเมื่อให้สัมภาษณ์กับ ฟอกซ์ นิวส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ทรัมป์ กล่าวว่า “ผมต้องดูก่อน ผมจะไม่ทำแค่บอกว่า รับ ผมจะไม่พูดว่าว่า ไม่” หลังจากนั้น ทรัมป์ยังออกมาพูดไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะจัดเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้
ต่อข้อถามว่า กองทัพจะปฏิเสธทำตามคำสั่งประธานาธิบดีหากเขาพยายามอาศัยกองทัพเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง แทนที่จะเป็นความมั่นคงของชาติหรือไม่ พล.อ.มิลลีย์ กล่าวว่า “ผมจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดกฎหมาย”
สำนักข่าว CNN รายงานว่า กองทัพสหรัฐไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือยุติข้อขัดแย้งใดๆหลังการเลือกตั้ง รวมถึงผลนับคะแนนที่มีการยื่นคัดค้านกันวุ่นวายหลังสุดเมื่อปี 2000 ทุกกรณีล้วนหาข้อยุติผ่านหน่วยงานพลเรือน
โครี ชาเก ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศและการทหาร สถาบันอเมริกัน เอนเตอร์ไพรซ์ กล่าวว่า กองทัพเป็นสถาบันที่ชาวอเมริกันวางใจที่สุด เมื่อประชาชนหวาดกลัว พวกเขาไว้ใจกองทัพว่าจะทำสิ่งถูกต้อง เหมาะสม ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต่อให้ไม่ใช่งานของกองทัพหรือในกรณีนี้ที่อาจจะเป็นแบบอย่างอันตรายต่อประชาธิปไตยในอเมริกา
ไม่ใช่ครั้งแรกที่พล.อ.มิลลีย์ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยุ่งการเมือง เมื่อเดือนมิ.ย. เขากล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ แสดงความเสียใจและขอโทษที่เดินไปกับประธานาธิบดีผ่านจตุรัสลาฟาแยต ลงเอยที่ถ่ายรูปเคียงข้างกัน หลังจากไม่กี่นาทีก่อนหน้า ตำรวจเพิ่งสลายการชุมนุมอย่างสงบเพื่อประท้วงการตายของจอร์จ ฟลอยด์เพื่อเปิดทางสะดวก พล.อ.มิลลีย์ กล่าวว่า รูปถ่ายนั้นจุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทกองทัพในสังคมพลเรือน แต่กองทัพจะต้องยึดหลักเป็นกลางทางการเมืองที่หยั่งลึกในแก่นแท้ของประเทศ