ข่าว

ใครมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร

ใครมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร

31 ส.ค. 2563

ใครมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรีไทย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ปากมดลูกเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน ซึ่งมาจากมดลูกและไหลออกมาภายนอกผ่านช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์น้ำอสุจิจะไปอยู่ในช่องคลอดเข้าไปสู่มดลูกทางปากมดลูก  เมื่อเกิดการปฏิสนธิกับไข่ของคุณผู้หญิงจะทำให้เกิดทารกน้อยๆ อาศัยในโพรงมดลูก และคลอดออกมาทางช่องคลอดเมื่อครบกำหนด
 

ใครมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก ?

สาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากเชื้อฮิวแมนแป๊ปปิโลม่าไวรัส (Human papilloma virus = HPV) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ
 
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ที่กล่าวมาได้แก่

  • อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
  • สูบบุหรี่
  • มีบุตรจำนวนมาก
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
  • ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) 
  • ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear)  และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

อาการผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

ในระยะรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ สวนล้างช่องคลอด ตรวจภายใน
  • เลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน
  • เลือดออกทางช่องคลอดหลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว (วัยทอง)
  • ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็ว


ขอบคุณข้อมูล  : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง