ข่าว

กรมอนามัย ร่วมเครือข่ายวางเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิหญิงท้องไม่พร้อม

กรมอนามัย ร่วมเครือข่ายวางเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิหญิงท้องไม่พร้อม

18 ก.ย. 2563

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดเสวนาและรณรงค์ชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อมเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์

วันนี้ (18 ก.ย. 2563) นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จของโครการเพื่อสร้างเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมร่วมกับ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมเอเซีย กรุงเทพมหานคร

กรมอนามัย ร่วมเครือข่ายวางเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิหญิงท้องไม่พร้อม

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์เพื่อถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนและผู้กำหนดนโยบาย เกี่ยวกับสภาพปัญหาและทางออกในเรื่องการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้หญิงที่ยังต้องเสี่ยงอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และเพื่อขจัดปัญหาที่มีผู้หญิงทั่วโลกต้องเสียชีวิตลงทุกปีจากสาเหตุการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลบริการ 1663 พบว่า ปี 2561 การปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม จำนวน 27,048 คน และ ปี 2562 จำนวน 16,457 คน โดยสาเหตุความไม่พร้อมเกิดจาก 3 ด้าน คือ 1)ด้านครอบครัว เช่น ถูกทอดทิ้ง แยกทาง คู่ไม่รับผิดขอบหรือสัมพันธภาพกับคู่ไม่ดี 2) ด้านเศรษฐกิจ เช่น รายได้ ไม่เพียงพอ และ 3) ด้านสังคม ช่น การตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือการทำงาน ดังนั้น ในปี 2563 นี้ ประเทศไทยโดยโครงการพัฒนาเครือข่ายการที่ปลอดภัย จึงได้ร่วมกันใช้แนวทางหลักในการรณรงค์เดียวกันกับนานาชาติคือ "การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพ" (Abortion is health care)

"ทั้งนี้ เป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายบริการทั้งตั้งครรภ์ต่อและยุติการตั้งครรภ์ให้มีความเข้มแข็งเข้าถึงได้ ปลอดภัยและเป็นมิตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม จึงดำเนินการร่วมกันภายใต้ 4 ข้อ คือ

1) พัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ

2) ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึงด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย R-SA

3) สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ การรณรงค์และเวทีเสวนาต่างๆ

4) จัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และเพื่อให้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว