ไล่ไทม์ไลน์ เปิดสาเหตุการเสียชีวิตล่ามประจำซาอุฯ ยืนยันเป็นรายที่ 59 จากโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมแถลงกรณีล่ามเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
กรณีพบ ล่ามประจำสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบียวัย 54 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อช่วงเที่ยงๆ ที่ผ่านมา โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ล่ามชาวไทยมุสลิม เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จากการที่ปอดถูกทำลาย แม้ว่าจากการตรวจหาเชื้อซ้ำนั้นจะไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม
อ่านข่าว : สธ.แจง เคสล่ามแรงงานไทยประจำซาอุฯ ติดโควิด-19 เสียชีวิตที่ราชวิถี
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมแถลงกรณีล่ามเสียชีวิตจากโควิด-19
สำหรับไทม์ไลน์ล่ามที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เริ่มติดเชื้อโควิดจากประเทศซาอุดิอาระเบียตั้งแต่เดือน กรกฏาคม 2563
- 21 ก.ค. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และมีปอดอักเสบ ร่วมกับมีภาวะวิกฤติทางระบบการหายใจ
- 26 ก.ค. เข้ารักษาตัวที่ รพ.King Fahad Medical City
- 10 ส.ค. แอดมิด ICU คนไข้หยุดหายใจต้องทำการ CPR และใส่ท่อช่วยหายใจ
ผลตรวจโควิด-19 ของล่ามท่านนี้ คือ
- 21 ก.ค. ผลเป็นบวก (ติดเชื้อ)
- 5 ส.ค. ผลเป็นบวก (ติดเชื้อ)
- 25 ส.ค. ผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
- 30 ส.ค. ผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
กระทั่งวันที่ 1 ก.ย. 2563 เวลา 20.30 น. ออกจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดย Air Ambulance พร้อมทีมแพทย์ และพยาบาลชาวอินโดนีเซีย จากนั้น 23.30 น.รถพยาบาลขั้นสูงพร้อมอุปกรณ์ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ เดินทางออกจาก รพ.ราชวิถี ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง
2 ก.ย.2563 เวลา 01.36 น. ทีมแพทย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี รับผู้ป่วยจาก Air Ambulance พร้อม Patient Isolation Transport Unit พร้อมติดตามอาการและสัญญาณชีพตลอดการนำส่ง
3 ก.ย.2563 เวลา 08.00 น. ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น หยุดหายใจ แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และได้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ ซึ่งตลอดระยะเวลากลับมารักษาก็มีอาการทรุดมาโดยตลอด
เนื่องจากผู้ป่วยดีขึ้นจากโควิด-19 แต่ก็มีภาวะปอดอักเสบจากแบคทีเรียติดเชื้อ ดื้อยา หลังรักษาได้ไม่ถึง 10 ชม. ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก่อนเดินทางเข้าไทยการที่หัวใจหยุดเต้นมาก่อน ทำให้พบว่าคลื่นหัวใจมีความผิดปรกติ เสี่ยงต่อการหยุดเต้นได้
ทั้งนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อจากซาอุดิอาระเบียตั้งแต่ช่วง มิ.ย.-ก.ค. นำมารักษาตัวที่ไทยช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. ซึ่งจากการนำมาที่ไทย ไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว
ส่วนสาเหตุจากการเสียชีวิตนั้น เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อดื้อยา ซึ่งในทางระบาดวิทยาสาเหตุดังกล่าวก็จะต้องนับเป็นผู้เสียชีวิตจากโควิดรายที่ 59 เนื่องจากเป็นการรักษาตัวต่อเนื่องตั้งแต่จากประเทศซาอุฯ จนมาถึงที่ประเทศไทย