ข่าว

ไม่จริง..."ทิพานัน" ซัดวิชามารบิดเบือน "เรียกแขกร่วมม็อบ" ยันรัฐไม่มีตัดงบบัตรทอง

ไม่จริง..."ทิพานัน" ซัดวิชามารบิดเบือน "เรียกแขกร่วมม็อบ" ยันรัฐไม่มีตัดงบบัตรทอง

19 ก.ย. 2563

"ทิพานัน" เตือนเฟคนิวส์ตัดงบบัตรทอง ยันรัฐไม่มีตัดงบฯ-ตัดสิทธิประชาชน ซัดวิชามารบิดเบือน "เรียกแขกร่วมม็อบ" แจงปมยกเลิกสัญญาคลินิก-รพ. เหตุทุจริต เป็นการขยายผลสอบสวนจากเรื่องเดิมปี 62 เฉพาะกทม. ตจว.ไม่เกี่ยว ย้ำหากมีปัญหาปรึกษา สายด่วน 1330

           วันที่ 19 ก.ย. 2563 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสในโลกโซเชียลที่วิตกวิจารณ์ว่ารัฐบาลตัดงบประมาณบัตรทอง 30 บาท ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกและโรงพยาบาลรวม 64 แห่งว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

 

อ่านข่าว: เปิดรายชื่อ "คลินิก-รพ. 64 แห่ง" ที่ สปสช.ยกเลิกสัญญา

 

        อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ  กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ได้ตัดงบประมาณในส่วนของบัตรทอง 30 บาท แต่อย่างใด และไม่มีการตัดสิทธิบัตรทอง 30 บาท ของประชาชนที่อยู่ในสถานพยาบาลนั้น จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีการนำประเด็นดังกล่าวไปบืดเบือนตีความ จนเกิดความเข้าใจผิดในสังคม ตั้งใจเป็นข่าวเฟคนิวส์ หรือต้องการเรียกแขกให้รัฐบาลในช่วงที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือเป็นวิชามาร ใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งเชื่อว่าพี่น้องประชาชนที่ติดตามข่าวมาตลอดจะรู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างดี

 

       “กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการขยายผลหลังพบการทุจริตงบประมาณบัตรทอง ของคลินิคชุมชนอบอุ่นตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการปลอมแปลงข้อมูล ใช้ใบแล็บปลอมเพื่อเบิกค่ารักษาไม่ตรงกับความเป็นจริง และปัญหาการสวมสิทธิ์ เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งพบว่าคลินิกและโรงพยาบาลกว่า 64 แห่งในกรุงเทพมหานคร มีการทุจริตงบฯบัตรทองเกิดขึ้น จนนำมาสู่การดำเนินการยกเลิกสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคลินิคหรือโรงพยาบาลในต่างจังหวัด” น.ส.ทิพานัน กล่าว      

        น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การยกเลิกสัญญาถถือเป็นการสกัดไม่ให้งบประมาณที่รั่วไหล ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ การทุจริตดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของงบประมาณบัตรทองได้ในอนาคต

 

       แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่กำลังรักษาอย่างต่อเนื่องในคลิดนิก และโรงพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญา นั้น ทางสปสช. ได้เตรียมหน่วยบริการทดแทนให้กับผู้ป่วย รองรับกรณีดังกล่าวแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

 

       โดยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องกับโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือศูนย์บริหารสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ได้ที่ https://bkk.nhso.go.th/ucs-around-me/ และในกรณีผู้ป่วยเร่งด่วน เช่น มีนัดผ่าตัด อายุครรภ์ เกิน 32 สัปดาห์ มีรับเคมีบำบัด ฟอกไตด้วยเครื่อง ให้โทรปรึกษา สายด่วน 1330

 

       ส่วนกรณีที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญา ไม่ต้องย้ายออกจนกว่าจะปลอดภัย สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เหมือนเดิม ส่วนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ในเครือข่าย บัตรทอง แต่ถ้าฉุกเฉินเข้าเกณฑ์ UCEP สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ 72 ชั่วโมง และโรงพยาบาลรัฐได้ทุกกรณี

 

      "ดิฉันเป็นห่วงพี่น้องประชาชน จะเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ฉะนั้นจึงขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงเท่านั้น หรือสอบถามที่ตนก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป " น.ส.ทิพานัน กล่าว