
เมืองพี่เมืองน้อง หล่มเก่า-หล่มสัก
หล่มสัก เป็นชื่ออำเภอหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ ที่เราคงคุ้นหูกันดี ในขณะที่อีกอำเภอหนึ่งซึ่งอยู่ติดกันและมีชื่อคล้ายคลึงกันว่า หล่มเก่า อาจยังไม่มีใครกล่าวถึงมากนัก ทั้งๆ ที่สองอำเภอนี้นอกจากมีชื่อพ้องกันแล้ว ยังมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องสำคัญต่อกันอ
อ.หล่มเก่า และ อ.หล่มสัก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม มีเทือกเขาโอบล้อมอยู่ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองที่เรียกว่า “หล่ม”
เมืองหล่ม เดิมที เรียกว่า “เมืองลุ่ม” ออกเสียงตามภาษาพื้นเมืองว่า “ลุ้ม” ตามความหมายของภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือ รวมถึงภาษาลาวแปลว่า “พื้นที่ข้างล่าง” ถ้าแปลตามความหมายของภาษาไทยภาคกลางหมายถึง “บริเวณที่ลุ่มต่ำ” มีลักษณะเป็นแอ่ง หรือบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งตรงกับลักษณะของพื้นที่ตั้งของ อ.หล่มเก่า และหล่มสัก
เมืองหล่มเก่าเรียกได้ว่าเป็นเมืองพี่ เนื่องจากว่ามีมาก่อนเมืองหล่มสัก จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน และเอกสารราชการที่มีการกล่าวถึงการตั้งเมืองหล่มสักมีดังนี้
เมืองหล่มสักตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะเดิมทีพื้นที่ทางเมืองหล่มเก่ามีผู้คนอยู่หนาแน่น เป็นชุมชนโบราณที่ชาวลาวจากเวียงจันทน์ และหลวงพระบางอพยพเข้ามาอาศัยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
กระทั่งพระยาสุริยวงษาเดชชนะสงคราม เจ้าเมืองหล่มเก่าขณะนั้น เห็นว่าที่ตั้งของเมืองไม่เหมาะสม จึงได้อพยพผู้คนไปตั้งเมืองอยู่ใกล้กับ “แม่น้ำป่าสัก” จึงมีชื่อเรียกเมืองหล่มใหม่นี้ว่า “เมืองหล่มสัก” นับแต่นั้นมา
อ.หล่มสัก เคยมีฐานะเป็น จ.หล่มสัก มาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปรับการปกครองในระบอบเทศาภิบาล ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยได้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมือง จ.หล่มสัก จึงถูกโอนมาเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.เพชรบูรณ์ แทน
อำเภอพี่น้องคู่นี้ นับเป็นส่วนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ควรช่วยกันเผยแพร่ต่อไป เพราะเป็นความรู้ใกล้ตัวที่มีประโยชน์ยิ่ง
เรือนอินทร์ หน้าพระลาน