"ไอลอว์" เปิด 4 เหตุผล คว่ำข้อเสนอแก้ รธน.ฝั่งรัฐบาล
"ไอลอว์" เปิด 4 เหตุผล คว่ำเนื้อหาแก้ รธน.พรรครัฐบาล สกัดอำนาจ คสช.ลักไก่จ้องอยู่ยาว
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 เฟซบุ๊คไอลอว์ โพสต์ข้อความหัวข้อ "สี่เหตุผลที่ต้องคว่ำข้อเสนอ "แก้รัฐธรรมนูญ" ของฝั่งรัฐบาล" มีเนื้อหาระบุว่า แม้ว่า ถนนทุกสายทางการเมืองจะมุ่งหน้าสู่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะมีเป้าหมายเพื่อการสร้างระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่พยายาม "เล่นแร่แปรธาตุ" ให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียง "ข้ออ้างอยู่ยาว" เพื่อรักษาอำนาจของ "ระบอบ คสช."
ร่างที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล มีเนื้อหาสาระเพียงแค่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ไม่แก้ไขระบอบการเมืองที่ผิดปกติ ที่ทั้งพรรคฝ่ายค้านและประชาชนต่างชูธงเป็นประเด็นหลักที่ต้องรีบแก้ไขก่อน เช่น การปิดสวิตช์ ส.ว. การยกเลิกช่องทางนายกคนนอกฯการแก้ปัญหาองค์กรตรวจสอบที่ไม่ทำงาน ฯลฯ
ไอลอว์ขอนำเสนอเหตุผลที่ต้องช่วยกันหยุดยั้งร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ "ลักไก่อยู่ยาว" ของรัฐบาล ดังนี้
(1) ที่มา สสร. เปิดช่องให้ 'รัฐบาลคสช.' เข้าไปกุมอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่ให้มี สสร. ที่มาจากการสรรหาอีก 50 คน เปิดช่องให้รัฐบาลเข้าไปยึดกุมได้ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มี สสร. ที่มาจากการสรรหาคัดเลือกโดยรัฐสภา ตามสัดส่วนหรือโควต้าของส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก็จะได้ตัวแทนจาก ส.ส.พรรครัฐบาล และ ส.ว. ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่
(2) ที่มา สสร. ไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวแทนของกลุ่มทางสังคม
รัฐธรรมนูญที่ดีควรโอบอุ้มความฝันของคนทุกกลุ่มทุกประเภท ดังนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นตัวแทนกลุ่มทางสังคมหรือตัวแทนทางอุดมการณ์ แต่ สสร.ตามร่างของรัฐบาล กลับผูกไว้กับพื้นที่ อันจะเห็นได้จากการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนเสียงของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมากกว่าสะท้อนเสียงของกลุ่มต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
(3) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามและต้องฟังเสียงรัฐบาลคสช. เป็นพิเศษ
ข้อห้ามสำคัญ คือ ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หากรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอันตกไป นอกจากนี้ ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของพรรครัฐบาล กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานรัฐ เป็นพิเศษ อีกด้วย
(4) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นการ "ซื้อเวลา" ให้รัฐบาลคสช.
ในร่างฉบับรัฐบาล วางเส้นทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างยาวนาน 12-15 เดือน โดยความช้าเร็วของกระบวนการขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ
1. รัฐสภา - เนื่องจากร่างของรัฐบาลกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินด่านแรกว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยสสร. หรือไม่ หากเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ให้ กกต. ไปจัดทำประชามติ
2. ประชามติ - หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง
จากสองปัจจัยข้างต้น จะพบว่า รัฐบาลจะมีหลักประกันอยู่ในอำนาจได้อีกอย่างน้อย 1 ปี โดยที่ไม่มีข้อเสนอยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ไปพร้อมๆ กันด้วย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปก็สามารถสั่งให้ ส.ว.250 คน และพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อซื้อให้เวลาให้ตัวเองต่อไปได้ และระหว่างที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทอดยาวออกไป รัฐบาลคสช. ก็ยังมี ส.ว.ชุดพิเศษของตัวเองเป็นหลักประกันทางอำนาจ