ดูชัดๆ 95 โครงการ วงเงิน 300 ลบ.กองทุนสื่อปลอดภัยอนุมัติ
ตัวแทนกลุ่มภาคประชาชน ปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร้อง สตง.ตรวจสอบ การอนุมัติทุน ก.ก.สื่อปลอดภัย 2563 จำนวน 95 โครงการ วงเงินกว่า 300 ล้านบาท ผิดเจตนารมณ์ เอื้อประโยชน์นายทุนหรือไม่
จากกรณีที่ นายณัฐพงศ์ เปาเล้ง ผู้แทนกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่า สตง. ขอให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล.บาท ขอระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน จนกว่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-หากพบว่าทุจริต ขอให้ดำเนินการเอาผิดตาม กฎหมายถึงที่สุด
โดยนายณัฐพงศ์ กล่าวว่า พันธกิจและเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้แก่ภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ผลการอนุมัติทุนของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลับมุ่งเน้นที่เอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่มีงบประมาณในการดำเนินการเป็นของตนเองอยู่แล้ว ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 จึงยื่นเรื่องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 และขอให้ระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 24 กันยายน 2563 จนกว่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ จากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 300 ล้านบาท หากพบว่ามีการทุจริตในการดำเนินการใด ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาทุน ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยถึงที่สุด
เมื่อทีมข่าว คมชัดลึก ได้เข้าไปตรวจสอบ เวปไซต์ของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ประกาศเกี่ยวกับการให้ทุน ที่มีประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ซึ่งต้องให้ทำสัญญา ภายใน 15 วัน
โดยมีโครงการที่มีมติอนุมัติข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 95 โครงการ รวม 284,966,950 บาท โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท
1.โครงการประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) จำนวน 39 โครงการ รวม 89,200,100 บาท
2.โครงการประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) จำนวน 48 โครงการ รวม 180,000,000 บาท
3.โครงการประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) จำนวน 8 โครงการ รวม 15,766,850 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-273-0116 โดยมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุน
1.โครงการประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) จำนวน 39 โครงการ รวม 89,200,100 บาท
แบ่งเป็น ประเด็นที่ 1 การผลิตสื่อเพื่อกระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 27,000,000 บาท
ประเด็นที่ 2 การสื่อสารเพื่อสร้างวินัยและจิตสำนึกสาธารณะ 7 โครงการ วงเงิน 30,000,000 บาท
ประเด็นที่ 3 การวิจัยปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ 3 โครงการ วงเงิน 2,900,000 บาท
ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมกลไกการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ 16 โครงการ วงเงิน 29,300,100 บาท
2.ประเภท การให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) จำนวน 48 โครงการ รวม 180,000,000 บาท
ประเด็นที่ 1 การแก้ไขการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ 5 โครงการ วงเงิน 49,000,000 บาท
ประเด็นที่ 2 การอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 16 โครงการ วงเงิน 50,105,000 บาท
ประเด็นที่ 3 การสร้างความภูมิใจในชาติไทย 7 โครงการ วงเงิน 15,255,000 บาท
ประเด็นที่ 4 นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 7 โครงการ วงเงิน 25,080,000 บาท
ประเด็นที่ 5 การรับมือกับปัญหาข่าวปลอม 12 โครงการ 35,760,000 บาท
ประเด็นที่ 6 การรู้เท่าทันเกม 1 โครงการ 4,800,000 บาท
3. ประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) จำนวน 8 โครงการ รวม 15,766,850 บาท
จากรายชื่อ องค์กร หน่วยงาน บุคคลที่ผ่านการอนุมัติให้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้นจะขัดและไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวด 1 มาตรา 5 ให้กองทุนเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือไม่นั้น ก็ต้องรอผลของการตรวจสอบว่าจะพบความผิดหรือไม่