ข่าว

"สุดารัตน์" ชี้ทางออกความขัดแย้งคือแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาลแห่งขาติ

"สุดารัตน์" ชี้ทางออกความขัดแย้งคือแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาลแห่งขาติ

03 ต.ค. 2563

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จัดสัมมนา "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย" "โภคิน" ย้ำต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ขณะที่ "นิกร จำนง" เชื่อ 80% สามารถแก้ไขได้ ขณะที่ "สุดารัตน์" ชี้ทางออกความขัดแย้งคือแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาลแห่งขาติ

3 ต.ค.63 ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา , นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ,นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา 

โดยนายโภคิน กล่าวถึงเหตุผลที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งได้ หรือแม้ชนะก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นจึงทำให้เห็นความพิสดารของรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศเดินไม่ได้ และจะเห็นว่าผลจากการสืบทอดอำนาจจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะเป็นทางออกของประเทศก็คือต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน วันนี้หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จะต้องให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เขียน ไม่ใช่ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาเขียน ดังนั้นจึงต้องมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปทำประชามติ จึงเชื่อว่าทางนี้เป็นทางออกของประเทศ ทั้งนี้ยืนยันว่าการแก้ไขไม่ได้แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับรูปแบบรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พยายามเว้นไว้ เพราะต้องการไปดูหมวดที่เกี่ยวกับประชาชน เกี่ยวกับ ส.ส. และ ส.ว. ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ต้องการไปคัดค้านข้อเสนอของประชาชนที่ต้องสามารถแก้ไขทุกมาตราได้ 

ด้านนายนิกร กล่าวว่าวันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหา ซึ่งเรื่องของรัฐธรรมนูญจะเป็นประตูที่เปิดเข้าสู่ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นในกรรมาธิการวิสามัญศึกษาจึงมีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพราะถือว่าเป็นประตูในการเปิดให้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องยอมรับว่าในกรรมาธิการวิสามัญฯที่ศึกษาไม่ได้มีการเชิญ ส.ว. เข้ามาร่วม เรื่องจากมองว่าควรจะต้องหารือและตกลงกันให้จบใน ส.ส.ก่อน ซึ่งในวันที่โหวตลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในวันนั้น เหตุผลที่ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนโหวตรับหลักการเพราะไม่ต้องการให้ร่างโดนตีตกไปตั้งแต่วาระรับหลักการ ดังนั้นจากการที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สามารถแก้ได้80% ส่วนจะสามารถแก้ไขได้ตามร่างของฉบับรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่จะต้องไปพูดคุยกัน พร้อมยืนยันว่าในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวว่า กลุ่มไอลอว์ได้จัดทำโครงการเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเข้าชื่อของประชาชนกว่าแสนรายชื่อ และนำร่างไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ปกติได้ตระหนักรู้แล้วว่าระบบการเมืองที่ไม่ปกติเป็นอย่างไร และได้ใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน
ซึ่งนี่เป็นข้อเสนอที่เห็นต่างยาก และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้

“ข้อเสนอนี้ เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรที่จะต้องอับอายต่อตัวเองและประชาชน โดยหากมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตไม่รับก็จะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้ามีการโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายยิ่งชีพ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.โคทม กล่าวถึงเจตนารมของภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ฝ่ายการเมือง ประชาสังคม และวิชาการ ได้มีพื้นที่พูดคุยและร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ถือว่าเป็นวันที่สำคัญ หากทุกคนออกมาแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า 14 ตุลา 16 ที่ผ่านไปแล้ว ยังไม่จบ โดยเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญปี2560 เพราะมีความไม่แฟร์ ดังนั้นต้องรื้อซากสิ่งผุพังและสร้างอนาคตใหม่ โดยการให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจผ่านการลงประชามติว่ารับหรือไม่รับร่างที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแก้ไข ผ่านการเลือกตั้ง สสร. และผ่านการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างที่ สสร.ร่างอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายวัฒนา กล่าวว่าปัญหาของประเทศมี 2 ปัญหา คือ การเมืองและเศรษฐกิจ หากแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่สามารถแก้ไขได้ วันรี้หากบ้านเมืองวุ่นวายก็ไม่มีใครกล้ามาลงทุน อีกทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งดูได้จากในรัฐสภา คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคนที่มาจากการแต่งตั้งจะขัดขวาง ดังนั้นทางออกของประเทศมีเรื่องเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้ไข เลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่าวันนี้เป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคุมเผด็จการ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจและริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ตนและคณะยังไม่ยอมถอดใจและจะเดินหน้าผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะถือว่าเป็นทางออกที่สันติและดีที่สุดในการออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่การมีรัฐบาลแห่งชาติ ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเสนอ คือ สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน