"จตุพร" เตือน คณะราษฎร63 ปฏิรูปสถาบันฯ เส้นบางๆ ขออย่าทำให้ "14 ตุลา ลามเป็น 6 ตุลา"
"จตุพร"ประเมิน 3 ข้อเรียกร้องใหม่คณะราษฎร 63 เผย 2 ข้อแรก "นายกฯลาออก-เปิดสภาวิสามัญแก้ รธน." ชอบธรรม ปชช. พรรคการเมืองมีสิทธิ์เข้าร่วมชุมนุมตามครรลอง ปชต. กังวลข้อ 3 เสนอปฏิรูปสถาบันฯ เส้นแบ่งบางๆ หวั่นชุมนุม 14 ตุลาลามเป็น 6 ตุลา
9 ต.ค.63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ "peace talk" โดยประเมินข้อเรียกร้องใหม่ของคณะราษฎร 2563 ว่า ข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันจะเป็นเส้นบางๆ ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่ง ขอเตือนให้คิดวิธีแก้ไขเปลี่ยนใหม่ในการชุมนุม 14 ตุลานี้
นายจตุพร กล่าวว่า คณะราษฎร 2563 จะจัดชุมนุม 14 ตุลาได้แถลงเป้าหมาย 3 ข้อ ซึ่งรวมเอาข้อเรียกร้องของกลุ่มปลดแอกกับกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าด้วยกัน แล้วเป็นข้อเรียกร้องใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดประชุมสภาวิสามัญแก้ รธน. และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ จากข้อเรียกร้องเดิมให้ยุบสภา แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น มีนัยแตกต่างกัน เพราะการยุบสภาคือคืนอำนาจให้ประชาชน แต่การให้นายกรัฐมนตรีลาออกเท่ากับสภายังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ในช่วงเลือกตั้งทั่วไป
ดังนั้น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จึงเป็นการปิดประตูพรรคพลังประชารัฐ เพราะได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในบัญชีแรก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อบัญชีแรก 3 คน คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทยเสนอนายอนุทิน ชาญวีระกูล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว
ตามบทบญญัติของ รธน. 2560 แล้ว ถ้าชื่อนายกรัฐมนตรีบัญชีแรกไม่สามารถโหวตเลือกได้คนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเพื่อเลือกบุคคลภายนอก (นอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเสนอไว้) ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติตาม รธน.
แต่เมื่อพิจารณาตามกลไก รธน.แล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีแรก ต้องพิจารณาจากชื่อที่พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ได้เสนอไว้ ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปีไม่อาจถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากถูกศาล รธน.สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องจากยุบสภา มาให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น กระดานการเมืองเรื่องนายกรัฐมนตรีใหม่จึงอยู่ในรายชื่อตามปรากฎ เนื่องจาก รธน.ยังไม่ได้แก้ไข ดังนั้นจึงแตกต่างจากการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินใจกันใหม่
"คณะราษฎร ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงเปลี่ยนมาให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ผมเคารพการตัดสินใจ เพราะเป็นสิทธิ์ เสรีภาพและตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย สามารถเรียกร้องกันได้"
ส่วนการแก้ รธน.นั้น นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างแก้ รธน. 6 ญัตติที่อยู่ในกระบวนการของสภา สำหรับร่างแก้ไขฉบับประชาชนยังไม่ถูกบรรจุในสภา อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปรายของสภาแล้ว กลับไม่มีการโหวตรับร่างแก้ใดในวาระแรก แต่ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.จับมือกันเล่นหักดิบเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเนื้อหาการแก้ รธน.ทั้ง 6 ร่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการประชุมสภาของไทยมาก่อน
อีกอย่าง ตนเชื่อว่า การแก้ รธน.นั้น ถ้ารัฐบาลไม่โลภเกินไปแล้วจะได้ประโยชน์ แต่เมื่อโลภจะทำให้เสียไปหมด เพราะอย่างน้อยถ้ายอมให้แก้ รธน. ประเด็นนี้ก็ถูกดึงออกจากกองไฟในสถานการณ์สุ่มปัญหาขณะนี้
"ในวันนี้ ถ้าประเทศไทยถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงจริงตามวิถีทางประชาธิปไตย ความเห็นผม คือยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วเลือกตั้งท้องถิ่น สส. และทำประชามติในคราวเดียวกันทั้งหมดในวันเดียว ก็จ่ายเงินงบประมาณก็เป็นคราวเดียว ผมไม่เชื่อว่า คนไทยโง่ถึงขนาดไม่รู้ว่า จะโหวตแยกกันอย่างไร"
นายจตุพร เน้นถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันว่า การชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาที่สนามหลวง เนื้อหาหลักในการอภิปรายบนเวทีเป็นการปฏิรูปสถาบันถึง 90% เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเพียง 10% จึงรู้ถึงเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่อยู่ที่สถาบัน รัฐบาลจึงลอยตัวสบายไป
ปัญหาวันนี้ แม้ข้อเรียกร้องได้ปรับเปลี่ยนก็ตามแล้ว แต่ท่วงทำนองและบริบทการปฎิรูปสถาบันยังถูกใช้เป็นหลักอยู่ อีกทั้งการชุมนุม 14 ตุลานั้น ในวันนั้นจะมีพิธีที่วัดพระแก้วพระบรมมหาราชวัง ถนนราชดำเนินในช่วงปกติจะเป็นเส้นทางขบวนเสด็จ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมเมื่อพฤษภา 2535 ผู้ชุมนุมต้องเปิดสองข้างทางให้ขบวนเสด็จ แล้วเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
"เพียงสถานการณ์ในคราวนี้มีความแตกต่างกัน นี่เป็นเส้นบางๆที่มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะหลากหลายเรื่องราว อะไรที่มากเกินไปนั้น คิดว่าบวกก็จะกลายเป็นลบ ผมจึงไม่อยากวิพากษ์ แต่หลายเรื่องควรมีหลักมีสติเหมือนกัน คนเราเมื่อมีความรักกันจริงก็ต้องเตือนกันอย่างมีสติ ประเภทยุส่ง ผมเชื่อว่าไม่มีความรักกันจริง"
นายจตุพร ย้ำว่า หลายเรื่องได้เลยเถิดมามาก แต่ถ้าเอาประเด็นเกี่ยวข้องกับสามัญชนด้วยกันแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเลยเถิดจึงเป็นการจำกัดแนวร่วม วันนี้เมื่อเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง นั่นแปลความว่าพสกนิกรต้องเทิดไว้เหนือหัว จึงไม่ควรดึงลงมาอยู่ในสนามการเมือง ส่วนความเห็นต่างกันให้เป็นเรื่องสามัญชน
"ผมพูดเช่นนี้ จะมีความไม่เข้าใจผมอยู่ แต่ในตอนท้ายแล้วจะเข้าใจว่าทำไมผมจึงพูดและเตือนเช่นนี้ เพราะผมเป็นผู้นำนักศึกษามา และการต่อสู้ในสนามผมไม่เคยหนีก่อน ไม่ขี้ขลาดตาขาว ที่เตือนไว้ทั้งหมด คือ สองข้อแรก ประชาชน พรรคการเมืองมีสิทธิจะเข้าไปร่วม แต่ข้อที่สามผมมีความวิตกกังวล"
พร้อมทั้งกล่าวว่า สถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลานั้น เส้นแบ่งบางๆในความรู้สึกควรระมัดระวังให้มากที่สุด เรื่องบางเรื่องไม่ควรทำ ดังนั้นในช่วงไม่กี่วันนี้ ควรคิดวิธีแก้ไขใหม่ ถ้าคิดว่าได้เปรียบ อาจจะเกิดอาการหุ้นตกอย่างราบคาบก็ได้
ดังนั้น เวทีปราศรัยต้องเป็นไปตามแนวที่ประกาศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะคิด หรือทำอะไรต้องบอกความจริงกับประชาชน เพราะความซื่อสัตย์ต่อผู้ร่วมชะตากรรมเป็นเรื่องใหญ่กับการต่อสู้
"ข้อเรียกร้องที่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นมาใหม่เป็นเสรีภาพ ส่วนข้อที่สามจะกลายเป็นปัญหา จึงเตือนสติว่า สองข้อแรกชอบธรรม ในข้อที่สามนั้น ประกอบกับมีเส้นแบ่งบางๆตามเส้นทางขบวนเสด็จแล้ว ผมว่าต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ขออย่าทำให้ 14 ตุลาเป็น 6 ตุลา"